Title: ประวัติศาสตร์ขบวนการอนาธิปไตยเกาหลี
Author: Alan MacSimoin
Topics: Korea, Shinmin
Language: Thai
Publication: DinDeng
Date: 2021
Source: http://www.dindeng.com/korean-anarchist-movement/
Notes: ผู้แปล Madalyn Berneri
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ ดูต้นฉบับได้ที่ The Anarchist Library
บทแปลนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School

ในประวัติศาสตร์ 2,000 ปี ของเกาหลี มีการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมาก ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนา จนถึงการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช ในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการกรุยทางให้เกิดหน่ออ่อนของแนวคิดอนาธิปไตยสมัยใหม่ในเกาหลี เช่นเดียวกับขบวนการ Diggers1 ในการปฏิวัติอังกฤษ (the English revolution)

ปี 1894 ญี่ปุ่นเข้ารุกรานเกาหลีอย่างเหี้ยมโหด ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า เป็นการอารักขาเกาหลีจากการคุกคามของจีนแผ่นดินใหญ่ กระนั้นการดิ้นรนต่อสู้ปลดแอกตนเองจากญี่ปุ่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเอกราชของเกาหลีนั้น ก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจหลักของปฏิบัติการทางการเมืองแบบราดิคัล

การเคลื่อนไหวของอนาธิปไตยสมัยใหม่ในเกาหลีเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางคนเกาหลีที่ลี้ภัยในประเทศจีนหลังจากการต่อสู้เพื่อเอกราชในปี 1919 อีกทั้งยังมีนักศึกษาและแรงงานที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการต่อสู้ที่เรียกว่า ขบวนการ 1 มีนาคม (1st March Movement) โดยการต่อสู้ของแรงงานและนักศึกษาร่วมกับเหล่าอนาธิปไตยในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก กว่าสองล้านคนที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว มีการประท้วงมากกว่า 1,500 จุด กว่า 7,500 คนที่ถูกคร่าชีวิต อีก 16,000 คนที่บาดเจ็บ บ้านเรือนมากกว่า 700 หลังและโบสถ์กว่า 47 แห่งก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน

ในช่วงระยะเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สหพันธ์อนาธิปไตยแห่งเกาหลี (Korean Anarchist Federation – KAF) ได้ถูกนิยามและแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน

ช่วงแรกครอบคลุมตั้งแต่ครึ่งแรกของทศวรรษ 1920 และ KAF ได้อธิบายไว้ว่าการขับเคลื่อนในช่วงนี้เป็นระยะตั้งไข่ของขบวนการ

ช่วงต้นศตวรรษ 20 ชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มแผ่ขยายความเป็นจักรวรรดิไปทั่วทั้งแถบเอเชีย พวกเขามุ่งตรงเข้าปราบปรามภายในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม ขบวนการอนาธิปไตยในญี่ปุ่นคือพวกแรกที่ออกมาต่อกรกับคำโฆษณาของเหล่าจักรวรรดินิยม กระทั่งในปี 1910 โกโตะกุ ซูซุย (Kotoku Shusui) นักอนาธิปัตย์แนวหน้าชาวญี่ปุ่นถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยมด้วยข้อหากบฏ ต่อมามีการชุมนุมต่อต้านสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russia-Japan war) และการยึดครองเกาหลี ที่นำโดยสำนักข่าว Commoners Newspaper จากนั้นเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียในปี 1905 และ 1917 การจลาจลข้าวในญี่ปุ่น (the Rice Riot)2 ปี 1918 และการจลาจลในเกาหลี เมื่อปี 1919 ก็เกิดขึ้นตามลำดับ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นรู้สึกกังวลใจอย่างมาก

ตามมาด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือดในการเคลื่อนไหว 1 มีนาคม อีกทั้งยังเกิดการต่อสู้ทางชนชั้นในญี่ปุ่นเอง ผู้นำของญี่ปุ่นต่างก็ออกมาตำหนิพวกอนาธิปไตยและคนเกาหลีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 1923 แรงงานเกาหลีในญี่ปุ่นกว่า 6,000 คนถูกตามล่าพร้อมกับถูกฆ่าด้วยกระบองและหอกไม้ไผ่ นอกจากนี้กลุ่มอนาธิปไตยญี่ปุ่นและเกาหลีก็ถูกจับกุม พัค ยอล (Park Yeol) และภรรยาของเขา กาเนะโกะ ฟุมิโกะ (Kaneko Fumiko) ทั้งสองคือนักอนาธิปไตยเกาหลีซึ่งเป็นทหารผ่านศึกจากการต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งนี้ยังเป็นผู้จัดตั้ง Black Workers Society ในกรุงโตเกียว ถัดมาพวกเขาได้ถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก็ถูกจับเข้าคุกเช่นกัน กาเนะโกะนั้นเสียชีวิตในคุก ส่วนพัคยังไม่ถูกปล่อยตัวจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ชาวเกาหลีหลายคนถูกจำคุกและกลายเป็นที่รู้จักในนาม “คดีกบฏ” (“the High Treason case” ) ต่อมาพวกเขาผันตัวมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในขบวนการอนาธิปไตยในประเทศของตน

สหพันธ์อนาธิปไตยเกาหลีในจีน (The Korean Anarchist Federation in China – KAFC) ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปี 1924 และกล่าว “แถลงการณ์การปฏิวัติเกาหลี” (“Korean Revolution Manifesto”) ซึ่งเป็นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอย่างแข็งกร้าว ดังนี้

“เราขอประกาศว่าการเมืองแบบลอบกัด (burglar politics) ของญี่ปุ่นเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงอยู่ของประเทศเกาหลี และเรามีสิทธิ์อันชอบธรรมแล้วที่จะโค่นล้มจักรพรรดินิยมญี่ปุ่นด้วยวิธีการปฏิวัติเสียที”

สิ่งเหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องทำมากกว่าการสับเปลี่ยนผู้ปกครอง ทว่าต้องชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติทางการเมืองกับการปฏิวัติทางสังคม จนถึงตอนนี้ ไม่มีข้อกังขาใดๆ เกี่ยวกับบทบาทของนักอนาธิปัตย์อีกแล้ว พวกเขาเน้นย้ำบทบาทของตนเองที่มีต่อสถานการณ์การปฏิวัติ ด้วยประการนี้แล้ว สหพันธ์จึงเริ่มทำสิ่งพิมพ์ออกมาเผยแพร่แก่สาธารณชน นั่นก็คือ เหล่าใบปลิว Recapture และ Justice Bulletin

โดยปี 1928 การแพร่กระจายของการเมืองแบบอิสระนิยมนั้นเป็นใจให้อนาธิปไตยเกาหลีจัดตั้งสหพันธ์อนาธิปไตยตะวันออก (Eastern Anarchist Federation) รวมกับสหายทั้งจากจีน เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งการประกาศศักดาในระยะแรกคือ การตีพิมพ์แถลงการณ์ Dong-Bang (ตะวันออก) “แถลงการณ์” ดังกล่าวนี้ ได้รับการรับรองโดยสหพันธ์ตะวันออกในฐานะที่มันเป็นระเบียบวาระอย่างเป็นทางการของเหล่านักอนาธิปัตย์

ช่วงเวลาระยะที่สองของ KAF ครอบคลุมตั้งแต่ปี 1925 ถึง 1930 ซึ่งถูกดำเนินการโดยองค์กรจัดตั้งของขบวนการเป็นหลัก พวกเขามีอาวุธหลักคือ ทฤษฎีการปฏิวัติอนาธิปไตยที่กำหนดไว้ใน “แถลงการณ์” และประสบการณ์จริงจากการขับเคลื่อนในขบวนการ 1 มีนาคม พร้อมทั้งองค์กรแรงงานในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีกลุ่ม “คดีกบฏ” (the High Treason case) ที่ได้รวมตัวกันในกรุงโซล แทกู เปียงยาง และพื้นที่อื่นๆ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 1929 สหพันธ์อนาธิปไตยคอมมิวนิสต์เกาหลีมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และได้ก่อตั้งขึ้นเป็นองค์กรระดับชาติในที่สุด ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งปฏิบัติการอยู่ใต้ดินโดยเบ็ดเสร็จ ดังนั้นจึงไม่ควรคิดว่าขบวนการเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มย่อยๆ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอื่น

เพื่อที่จะเข้าใจว่าขบวนการเติบโตขึ้นไปในแนวทางไหนนั้น ฉันก็เลยต้องการสอดส่องว่าสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1920 มีความก้าวหน้าไปในลักษณะใดบ้าง หนังสือพิมพ์รายวัน Dong-a Ilbo รายงานไว้ในเดือนตุลาคม ปี 1925 ว่าสมาชิกสันนิบาตธงดำ (League of Black Flag) สิบคนที่อยู่ในจังหวัดคิโฮ (Kiho) ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ส่วนปีถัดมา หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ก็ได้รายงานอีกว่า แรงงานวัยเยาว์ 5 คนถูกจำคุกเนื่องจากออกแถลงการณ์ที่มีลักษณะและเนื้อหาคล้ายคลึงกันมากกับ “แถลงการณ์การปฏิวัติเกาหลี” (Korean Revolution Manifesto) ในปี 1929 Dong-a Ilbo เล่าถึงสมาคมลับของกลุ่มอนาธิปไตยที่จัดตั้งโดย อีอึนซอง (Lee Eun-Song) ซึ่งมีสมาชิกถึงหนึ่งร้อยคนในเมืองอินชอน (Icheon) จังหวัดกวังวอน (Kwangwon) ส่วนปีเดียวกันนั้นก็ได้ทราบว่า สมาชิกทั้งหมดของ Chunju Artists Movement Society ล้วนแต่เป็นพวกอนาธิปไตย แต่นั่นเป็นเพียงชื่อที่ใช้เพื่ออำพรางกลุ่มองค์กรเหล่านี้ให้รอดพ้นจากการตามรอยของตำรวจญี่ปุ่น แน่นอนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจตอบโต้สิ่งเหล่าด้วยโทษประหารชีวิต เพื่อจัดระเบียบสังคมเสียใหม่โดยมีเป้าหมายคือ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชาติ” (โดยปราศจากพวกอนาธิปไตย-ผู้แปล)

ในแทกู สมาคมความจริงและภราดรภาพ (League of Truth and Fraternity) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1925 โดยชาวเกาหลีพลัดถิ่นที่กลับมาจากญี่ปุ่น สมาคมการปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้นขณะนั้นเช่นกัน ทั้งคู่ได้ติดต่อกับสมาคมเยาวชนทมิฬแห่งโตเกียว (Tokyo Black Youth Society) อย่างสม่ำเสมอ ฉันยังเจอกลุ่มอนาธิปไตยใน อานูอี มีซาน ซางวอน และกลุ่ม Mutual Aid บนเกาะเชจู กลุ่มหลังสุดนี้ใช้ความห่างไกลจากรัฐบาลกลางในการจัดตั้งความร่วมมือของเกษตรกรและช่างฝีมือ รวมไปถึงกลุ่มชาวนา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วนักจัดตั้งเหล่านี้ก็โดนตามจับเข้าคุกอยู่ดี

ในจังหวัดควันซอและควันบูล ฉันพบว่ามีอย่างน้อยอีกแปดกลุ่มที่ถูกกล่าวถึง เกือบทุกกลุ่มทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการผลิตแผ่นพับและใบปลิวเพื่อเผยแพร่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อต้านการยึดครองของพวกจักรวรรดิ

ในตอนนี้ พวกเรารู้ว่ามีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่เกือบทุกพื้นที่ของเกาหลี ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มดังกล่าวข้างต้นก็ยังมีองค์กรในแมนจูเรียและในหมู่ผู้ถูกเนรเทศในประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนขบวนการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ระยะต่อไปของ KAF คือช่วงการต่อสู้ซึ่งดำเนินไปจนถึงปี 1945

ในบรรดาชาวเกาหลีสองล้านคนในแมนจูเรีย กลุ่ม KAF ในแมนจูเรียสามารถลงหลักปักฐานได้ทันทีหลังจากการก่อตั้งในปี 1929 คิม จอง-จิน ผู้ดูแลโครงการหลักของสหพันธ์ฯ ได้จัดทำแผนเพื่อนำไปใช้ร่วมกับเหล่ากองโจรที่ต่อต้านญี่ปุ่น และครอบคลุมไปถึงกลุ่มอาสาสมัครสำหรับเกษตรกรอย่างมีส่วนร่วม เช่น การศึกษาฟรีสำหรับเยาวชนจนถึงอายุ 18 ปี พร้อมกับสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีการฝึกอาวุธให้กับผู้ที่บรรลุนิติภาวะทั้งหมด ในท้ายที่สุดแผนการในแนวทางอนาธิปไตยเหล่านี้ ก็ได้รับการพิจารณาและมีความเห็นพ้องต้องกันงว่า “เป็นไปตามหลักการสหพันธ์ที่มีอิสระตามเจตจำนงเสรีของมนุษย์”

ส่วนปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังก็คือ วิธีจัดการกับพวกสตาลินที่อยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งกำลังปฏิบัติการใส่ร้ายป้ายสีเหล่าผู้นิยมอนาธิปไตยและคนอื่นๆ ว่าเป็น “เผด็จการ” เหล่านักอนาธิปัตย์รุ่นเยาว์อย่างกลุ่ม Yu-Rim ก็ต้องการต่อสู้กับอุดมการณ์ของสตาลินด้วยอุดมการณ์แบบอนาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาอยากจะแสดงให้เหล่าสตาลินนิสต์เห็นว่าอุดมการณ์ของพวกเขานั้นมันเหนือชั้นกว่าพวกสตาลินิสต์เป็นไหนๆ ส่วนกลุ่มกองโจรรุ่นเก๋าที่นำโดย Kim Jwa-Jin (บางครั้งเรียกว่าโคเรียน แม็กโน [Korean Makhno] ) ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน กลับคิดว่ามันน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการการกล่าวถึงและสนับสนุนกลุ่มอนาธิปไตย อันที่จริงพวกเขาสามารถเพิกเฉยต่อพวกสตาลินได้จนกว่าจะได้รับเอกราชของชาติ ซึ่งเมื่อนั้นการเมืองที่แท้จริงจะปรากฏขึ้นมาอยู่ในแนวหน้า จะเอาอะไรกับความคิดพรรค์นี้ที่มันไม่ต่างจากทฤษฎีขั้นตอน (stage theory) ซึ่งหยิบฉวยมาจากข้อเสนอของพรรค Sinn Fein ในไอร์แลนด์กันเล่า!

เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1929 กลุ่มอนาธิปไตยได้จัดตั้งคณะบริหารในชินมิน (หนึ่งในสามจังหวัดของแมนจูเรีย) ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่ผู้นิยมอนาธิปไตยว่าองค์กรลักษณะนี้มีความเป็นรัฐบาลหรือไม่ พวกเขาใช้ชื่อว่า สมาคมประชาชนเกาหลีในแมนจูเรีย (Korean People’s Association in Manchuria) โดยประกาศเป้าหมายว่านี่เป็น “ระบบความร่วมมือที่ปกครองตนเองโดยอิสระของชาวเกาหลี ซึ่งรวบรวมพลังอย่างเต็มที่เพื่อกอบกู้ชาติของเราด้วยการต่อสู้กับญี่ปุ่น” องค์กรนี้มีโครงสร้างแบบสหพันธ์ โดยการตัดสินใจทางการเมืองจะเริ่มต้นจากการประชุมระดับหมู่บ้านไปจนถึงการประชุมระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ ซึ่งสมาคมกลางก็จะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลายๆ อำเภอและหลายๆ พื้นที่รวมกัน

สมาคมกลางได้จัดตั้งฝ่ายบริหารเพื่อจัดการกับการเกษตร การศึกษา การโฆษณาชวนเชื่อ การเงิน การทหาร สภาพสังคม เยาวชน และกิจการทั่วไป แต่ว่าพนักงานของแต่ละหน่วยงานจะได้รับค่าจ้างไม่เกินไปกว่าค่าเฉลี่ย

เราคาดหวังว่าองค์กรจะค่อยๆ เริ่มต้นในระดับหมู่บ้านแล้วรวมกันให้ใหญ่ขึ้นเป็นสหพันธ์ อย่างไรก็ตาม EAPM เชื่อว่าสถานการณ์สงครามทำให้ไม่สามารถใช้หลักการดังที่ว่าได้ทันที แต่ในระหว่างนี้พวกเขาได้แต่งตั้งผู้ดำเนินงานในลักษณะจากบนลงล่าง จากนั้นจึงส่งทีมองค์กรและทีมเผยแพร่ออกไปจัดตั้งสนับสนุนการรวมตัวของคนในชุมชน พร้อมกับสร้างคณะกรรมาธิการของหมู่บ้านไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น หมู่บ้านแห่งหนึ่ง โรงสีข้าวที่สามารถสีข้าวได้มากกว่า 1 ล้านบุชเชลถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สหกรณ์ในท้องถิ่นเลิกพึ่งพาพ่อค้า ดูเหมือนว่าทีมงานเหล่านี้จะได้รับการตอบรับและการต้อนรับที่ดีจากทุกที่ที่พวกเขาย่างกรายไป

ฝ่ายบริหารท้องถิ่นของผู้ร่วมต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองชิมินได้ยุบพรรคโดยสมัครใจและให้การสนับสนุน KAPM ซึ่งเมื่อกลุ่มอนาธิปไตยได้รับการสนับสนุนและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากขึ้น พวกสตาลินและกลุ่มที่สนับสนุนญี่ปุ่นในแมนจูเรียขณะนั้นจึงรู้สึกว่าฐานอำนาจของพวกเขาถูกสั่นคลอน

เมื่อวันที่ 20 มกราคม นักอนาธิปัตย์ นายพลคิม จวาจิน (Kim Jwa-Jin) ถูกลอบสังหารขณะทำงานซ่อมแซมโรงสีข้าวที่ฉันเพิ่งพูดถึง ฆาตกรหนีรอดไปได้ แต่ลูกน้องของเขาถูกจับพร้อมกับประหารชีวิต

ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่กรุงปักกิ่งของ KAFC ได้มีการตัดสินใจถ่ายโอนทรัพยากรทั้งหมดจากเกาหลีไปยังแมนจูเรีย สมาชิก KAFC ส่วนใหญ่ย้ายไปยังเขตอนาธิปไตยทางตอนเหนือของแมนจูเรีย สถานการณ์ตรงนี้ควรสังเกตว่าสหายสตรีมีความกระตือรือร้นในฐานะผู้ปั่นหัวพวกอำนาจนิยมและมีส่วนในการปฏิบัตการลักลอบขนย้ายอาวุธ

ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้โจมตีเป็นระลอกจากทางใต้ และพวกสตาลินนิสต์ที่โจมตีจากทางเหนือโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และเมื่อช่วงต้นปี 1931 พวกสตาลินได้ส่งทีมลอบสังหารพร้อมกับทีมลักพาตัวไปยังเขตอนาธิปไตยเพื่อสังหารผู้นำการเคลื่อนไหว พวกเขาเชื่อว่าหากกำจัด KAFM ออกไป KAPM ก็จะเหี่ยวเฉาและตายลงในที่สุด ในฤดูร้อนปี 1931 ผู้นำอนาธิปไตยจำนวนมากเสียชีวิต และสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ทำลายล้างอาณาบริเวณนี้จนหมดสิ้น ดังนั้นพวกอนาธิปไตยจึงตัดสินใจกระทำปฏิบัติการแบบใต้ดิน ซึ่งนั่นคือการแสดงเป็นนัยว่า นักอนาธิปัตย์ในชิมินได้ล่มสลายลงไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่จะต้องพูดถึงปฏิบัติการของเหล่าอนาธิปไตยในจีนและญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีในช่วงหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทัศนคติของเหล่าอนาธิปไตยที่มีต่อการแบ่งแยกประเทศ พร้อมกับการคำนึงถึงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในปัจจุบันนั้น อาจต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามปีในการอภิปรายทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำให้ชัดเจนมากกว่านั้นคือ อนาธิปไตยในเอเชียมีประวัติศาสตร์อันแท้จริง เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่ความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ในระหว่างนี้ เราสามารถดึงพลังจากประสบการณ์อันเป็นภูมิปัญญาในอดีตที่ว่า อนาธิปไตยเคยเป็นกำลังสำคัญในภูมิภาคนี้ และบัดนี้มันสามารถเป็นเช่นนั้นได้อีกครั้ง!