标题: อนาธิปไตยคืออะไร?
语言: Thai
Publication: Slaves Without Masters
日期: 1929
备注: Working translation by Peam Pooyongyut. Currently only includes the introduction and the first two chapters. Translated from Berkman, Alexander. 2003. What is Anarchism (Working Class Series 1). Edinburgh: AK Press.

บทนำ

ผมอยากเล่าให้คุณฟังเกี่ยวกับอนาธิปไตย

ผมอยากจะบอกคุณว่าอนาธิปไตยคืออะไร เพราะผมคิดว่ามันคงจะดีถ้าคุณรู้จักมันเสียก่อน อีกทั้งมันยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และความเข้าใจที่มีต่อมันมักจะเป็นความเข้าใจผิดๆ แทบทั้งหมด

ผมอยากบอกให้คุณรู้ เพราะผมเชื่อว่าอนาธิปไตยคือความคิดที่ยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงามที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดกันมา เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะมอบเสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคุณ และนำความสงบและความหฤหรรรษ์มาสู่โลกใบนี้

ผมอยากบอกเล่าด้วยภาษาที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีการเข้าใจผิดๆ เกิดขึ้น คำใหญ่คำโต หรือประโยคที่ดูดีมีแต่จะทำให้สับสนเปล่าๆ การคิดอย่างตรงไปตรงมาหมายความว่าคุณจะต้องพูดมันออกมาอย่างเรียบง่าย

แต่ก่อนที่ผมจะบอกคุณว่าอนาธิปไตยคืออะไร ผมอยากบอกก่อนว่ามันไม่ใช่อะไร

นี่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความเข้าใจผิดๆ มากมายเกี่ยวกับอนาธิปไตยได้ขยายวงกว้างออกไป แม้แต่คนที่ชาญฉลาดยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับมันอยู่บ่อยครั้ง บางคนที่พูดถึงอนาธิปไตยนั้นยังไม่รู้จักมันดีพอด้วยซ้ำ และบางคนก็โกหกมดเท็จเกี่ยวกับมันเพราะไม่อยากให้พวกคุณรู้ว่าความจริงคืออะไรกันแน่

อนาธิปไตยมีศัตรูอยู่มากมายเหลือเกิน และคนพวกนั้นจะไม่ยอมบอกความจริงให้คุณรู้หรอก ผมจะบอกทีหลังว่าทำไมอนาธิปไตยถึงมีศัตรูอยู่มากมาย และคนเหล่านั้นคือใคร ตอนนี้ผมแค่อยากจะบอกให้คุณรู้ ว่าเจ้านายหรือนายจ้างของคุณ รวมทั้งพวกนายทุนและตำรวจ จะไม่พูดเรื่องอนาธิปไตยออกมาให้คุณฟังอย่างจริงใจแน่นอน พวกเขาแทบทุกคนไม่รู้จักมัน และพวกเขาทุกๆ คนล้วนเกลียดมัน ทั้งหนังสือพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกเขา พวกนายทุน ก็ล้วนต่อต้านอนาธิปไตย

แม้แต่พวกสังคมนิยม และพวกบอลเชวิก ก็ฉายภาพของอนาธิปไตยออกมาอย่างผิดเพี้ยน มันก็จริงที่ว่าส่วนมากคนพวกนี้ไม่รู้จักอนาธิปไตย แต่คนที่รู้จักมันเป็นอย่างดีก็มักจะโกหกเกี่ยวกับมัน และมักจะบอกว่าอนาธิปไตยนั้น “ไร้ระเบียบและวุ่นวาย” คุณจะเห็นได้ด้วยตัวเองเลยว่าพวกเขาไร้ซึ่งความจริงใจมากเพียงใด: ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งลัทธิสังคมนิยม – คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเงิลส์ ได้พร่ำสอนว่าอนาธิปไตยนั้นมาจากสังคมนิยม พวกเขาบอกว่าเราต้องมีสังคมนิยมเสียก่อน แต่หลังจากสังคมนิยมแล้ว อนาธิปไตยก็จะตามมา แต่ชีวิตภายใต้สังคมนิยมนั้นจะเสรีและสวยงามมากกว่า ใช่ มาร์กซ์และเองเงิลส์ยังคงยืนกรานว่าอนาธิปไตยนั้น “ไร้ระเบียบและวุ่นวาย” ซึ่งแสดงให้คุณเห็นเลยว่าพวกเขางี่เง่า และไร้ความจริงใจมากเพียงใด

พวกบอลเชวิกก็เหมือนกัน แม้แต่ปรมาจารย์ของพวกเขาอย่างเลนินก็เคยบอกด้วยซ้ำว่าอนาธิปไตยต้องเข้าร่วมกับบอลเชวิก จึงจะได้อยู่ในสังคมที่ดีและเสรีมากกว่าเดิม

เอาล่ะ ก่อนอื่นผมคงต้องบอกคุณเสียทีว่า อนาธิปไตยมิใช่สิ่งใด

อนาธิปไตยไม่ใช่ความไร้ระเบียบ หรือความวุ่นวายโกลาหล มันไม่ใช่การจี้ปล้น หรือฆาตกรรม มันไม่ใช่สภาวะที่ทุกคนเป็นศัตรูกัน มันไม่ใช่การกลับไปสู่ความป่าเถื่อน หรือสภาวะธรรมชาติของมนุษย์

อนาธิปไตยล้วนอยู่ตรงข้ามสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด

อนาธิปไตหมายความว่า คุณควรที่จะเป็นอิสระ ไม่มีใครมาทำให้คุณเป็นทาส ไม่มีใครมาบงการ มาปล้น หรือเรียกเก็บภาษีจากคุณไปได้

มันหมายความว่าคุณควรจะเป็นอิสระที่จะทำในสิ่งที่คุณต้องการ และไม่ควรมีใครมาบังคับในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ

มันหมายความว่า คุณสามารถเลือกวิถีชีวิตของคุณได้เอง ว่าคุณอยากจะใช้ชีวิตอย่างไรโดยที่ไม่มีใครมาก้าวก่าย

มันหมายความว่า คนทุกคนจะได้รับความอิสระเฉกเช่นเดียวกับคุณ ทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพเหมือนๆ กัน

มันหมายความว่ามนุษย์ทุกคนคือพี่น้อง และเราจะอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง ด้วยความสงบและความสามามัคคี

นั่นจึงทำให้พูดได้ว่า มันไม่ควรมีสงคราม ไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่มีการผูกขาด ไม่มีความยากจน ไม่มีการกดขี่ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

พูดสั้นๆ คือ อนาธิปไตยหมายความว่าสภาวะหรือสังคมที่มนุษย์ทั้งชายและหญิงนั้นเป็นอิสระ และใช้ชีวิตอยู่อย่างมีระเบียบและมีความหมายอย่างเท่าเทียมกัน

“มันจะเป็นไปได้เหรอ?” คุณถาม “จะทำยังไงล่ะ?”

“เราอาจจะต้องตายไปเป็นเทวดาเสียก่อนล่ะมั้ง” เพื่อนคุณอาจจะพูดแบบนี้

เอาล่ะ จบลงตรงนี้ก่อนดีกว่า บางทีผมอาจจะแสดงให้คุณได้เห็นว่าเราสามารถใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่ต้องรอให้ปีกงอกออกมาจากแผ่นหลังได้อย่างไร

บทที่ 1: คุณอยากเอาอะไรออกไปจากชีวิต?

อะไรคือสิ่งที่ทุกคนต้องการที่สุดในชีวิต? คุณต้องการอะไรมากที่สุด?

อย่าลืมว่าเราทุกคนล้วนเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชายหรือหญิง รวยหรือจน สูงศักดิ์หรือต่ำต้อย ผิวขาว เหลือง แดง หรือดำ ไม่ว่าจะอยู่แดนดินแห่งใด เชื้อชาติไหน และศาสนาอะไร เราก็ล้วนแต่รับรู้ถึงความหนาวเหน็บและความหิวโหย ความรักและความเกลียดชัง เราหวาดกลัวเหล่ามหันตภัย โรคระบาด และหลีกลี้จากภัยอันตรายและความตาย

สิ่งที่คุณอยากหลีกหนีออกไปมากที่สุด สิ่งที่คุณกลัวมากที่สุด ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ของคุณคิดแบบเดียวกัน

เหล่าผู้มีการศึกษาได้เขียนหนังสือเล่มโตออกมาหลายเล่มเกี่ยวกับสังคมวิทยา จิตวิทยา และ “-วิทยา” อื่นๆ อีกมาก เพื่อที่จะบอกว่าพวกคุณต้องการสิ่งใด แต่หนังสือเหล่านั้นไม่ได้มีข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันใดๆ เลย และผมคิดว่าต่อให้พวกเขาไม่บอก คุณก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร

พวกเขาศึกษาและเขียนและคาดเดาไว้ต่างๆ นานาเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับพวกเขามันคงเป็นโจทย์ที่ยากเย็น จนพวกคุณในฐานะปัจเจกจึงสูญหายไปสิ้นในปรัชญาของพวกเขา และในท้ายที่สุดพวกเขาก็มาพร้อมกับข้อสรุปที่ว่า พวกคุณ, สหายของผม พวกคุณไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่สำคัญไม่ใช่พวกคุณในฐานะปัจเจก แต่เป็น “มวลรวม” (the whole) ที่รวมคนทุกคนเอาไว้ด้วยกัน และการรวมกันแบบนี้ก็เรียกว่า “สังคม” “ประชาชาติ” หรือ “รัฐ” แล้วพวกอวดฉลาดทั้งหลายก็จะบอกว่า ตราบใดที่สังคมยังคงสงบเรียบร้อยดี มันก็คงไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในฐานะปัจเจกต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก แต่ไม่แน่ว่าเขาอาจจะลืมอธิบายว่าสังคมจะสงบเรียบร้อยได้อย่างไร ถ้ายังมีใครสักคนกำลังฉิบหาย ยากจนข้นแค้น และตกระกำลำบาก

ดังนั้นพวกเขาจึงชักใยแห่งปรัชญาของพวกเขาต่อไป และเขียนหนังสือเล่มหนาออกมาเพื่อที่จะหาคำตอบว่าพวกคุณก้าวเข้ามาสู่แบบแผนที่เรียกว่าชีวิตได้อย่างไร แล้วพวกคุณต้องการสิ่งใดกันแน่

แต่คุณก็รู้ดีอยู่แล้วนี่ ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ เช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ ของคุณ

คุณอยากมีชีวิตและสุขภาพที่ดี คุณอยากเป็นอิสระ คุณไม่ต้องการหมอบคลานและลดคุณค่าของตัวเองต่อหน้าใครทั้งสิ้น คุณอยากให้ตัวคุณเอง ครอบครัวของคุณ รวมทั้งคนที่คุณรักมีความเป็นอยู่ที่ดี และไม่ต้องเผชิญกับอันตราย รวมถึงต้องวิตกกังวลกับสิ่งที่ไม่แน่นอนในอนาคต

คุณคงจะรู้สึกมั่นใจว่าทุกๆ คนก็ต้องการสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นสาระทั้งหมดมันก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ

คุณต้องการความเป็นอยู่ที่ดี และอิสระภาพ ซึ่งทุกคนก็เหมือนกับคุณในแง่นี้

ชีวิตของพวกเราจึงแสวงหาสิ่งๆ เดียวกัน

แล้วทำไมเราถึงไม่รวมมือกันแสวงหาด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันล่ะ?

ถ้าเราแสวงหาสิ่งเดียวกัน แล้วทำไมเราถึงคดโกง ปล้นชิง ฆ่าแกงกันเอง? คุณไม่มีสิทธิ์ในสิ่งที่คุณต้องการเทียบเท่ากับคนอื่นๆ หรอกหรือ?

หรือเพราะว่าการต่อสู้ห่ำหั่นกันเองเป็นหนทางที่เราจะได้มาซึ่งความเสรี และความเป็นอยู่ที่ดี?

หรือเพราะว่ามันไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว?

เราลองมาคิดถึงประเด็นนี้กันดีกว่า

ถ้าเราต้องการสิ่งเดียวกัน ถ้าเรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นแปลว่าผลประโยชน์ของเราก็ต้องเหมือนกันด้วยไม่ใช่หรือ? ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ควรจะอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หยิบยื่นมิตรภาพให้แก่กัน เราควรปฏิบัติดีต่อกัน และช่วยเหลือกันเท่าที่เราจะทำได้

แต่คุณก็รู้ว่าชีวิตมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย คุณก็รู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันและสงคราม เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและสิ่งผิด เต็มไปด้วยอาชญากรรม เต็มไปด้วยความยากจน และเต็มไปด้วยการกดขี่

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?

นั่นเป็นเพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเป้าหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ผลประโยชน์ของเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน นี่คือสาเหตุที่นำปัญหาทั้งมวลมาสู่โลกใบนี้

คุณลองคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวคุณเองก็แล้วกัน

สมมติว่าคุณอยากได้รองเท้าสักคู่หรือหมวกสักใบ คุณไปที่ร้านขายรองเท้า (หรือหมวก) และพยายามหารองเท้าที่คุณต้องการ โดยเป็นคู่ที่ถูกที่สุดแล้วก็มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ นี่คือผลประโยชน์ของคุณ แต่ผลประโยชน์ของเจ้าของร้านก็คือการขายสินค้าให้แพงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาจะได้กำไรเพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยการทำกำไรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรามีชีวิตอยู่ในระบบของการทำกำไร

ตอนนี้คงจะเห็นแล้วว่าถ้าเราต้องทำกำไรต่อกันและกัน ผลประโยชน์ของเราจะไม่มีทางเหมือนกันได้ หรือบางครั้งมันอาจจะเป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ

ในทุกๆ ประเทศคุณจะพบเจอผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการแสวงหากำไรจากผู้อื่น คนที่ทำกำไรได้มากก็ย่อมร่ำรวย ส่วนคนที่ทำกำไรไม่ได้เลยก็จะยากจน มีเพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถแสวงหากำไรได้เลยก็คือเหล่าคนงาน คุณจะเข้าใจได้ทันทีเลยว่าทำไมผลประโยชน์ของเหล่าคนงานจึงไม่มีทางเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมในทุกๆ ประเทศ ผลประโยชน์ของคนในชนชั้นต่างๆ จึงไม่เหมือนกันเลย

ในทุกๆ ที่คุณจะพบ

  1. คนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำกำไรได้สูงและร่ำรวยมาก อย่างเช่นนายธนาคาร ผู้ทำการผลิตขนาดใหญ่ และเจ้าของที่ดิน คนพวกนี้มีทุนมากและถูกเรียกว่าพวกนายทุน พวกเขาอยู่ในชนชั้นนายทุน

  2. ชนชั้นที่ร่ำรวยน้อยลงมานิดหน่อย ได้แก่พวกนักธุรกิจ นายหน้าค้าที่ดิน นักวิเคราะห์ และคนที่ใช้ทักษะชั้นสูงอย่างเช่น แพทย์ นักประดิษฐ์ และอื่นๆ นี่คือชนชั้นกลาง หรือพวกกระฎุมพี

  3. คนงานจำนวนมากที่ถูกว่าจ้างอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในโรงตัดไม้และเหมือง ในโรงงานและร้านค้า ในการขนส่ง และบนที่ดินต่างๆ นี่คือชนชั้นแรงงาน เรียกอีกอย่างว่ากรรมาชีพ

พวกกระฎุมพีกับพวกนายทุนนั้นถูกจัดอยู่ในชนชั้นนายทุนเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์ของพวกเขาไม่แตกต่างกันมากนัก และโดยทั่วไปแล้วพวกกระฎุมพี่ก็มักจะเข้าข้างพวกนายทุนซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับพวกชนชั้นแรงงาน

คุณจะเห็นได้ว่าชนชั้นแรงงานเป็นชนชั้นที่จนที่สุดในทุกๆ ประเทศ บางทีคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มคนพวกนี้ด้วย แล้วคุณก็จะรู้ว่าตัวเองไม่มีทางร่ำรวยด้วยค่าแรงที่คุณได้รับเลย

ทำไมพวกแรงงานถึงเป็นชนชั้นที่ยากจนที่สุด? แน่นอนล่ะว่าพวกเขาใช้แรงงานมากกว่าชนชั้นอื่นๆ และทำงานหนักกว่าด้วย หรือเป็นเพราะว่าพวกแรงงานไม่ได้สำคัญที่สุดในสังคม? หรือว่าบางทีเราก็อยู่ได้โดยไม่ต้องมีพวกเขา?

ลองคิดกันดูสิ เราต้องการอะไรในการดำรงชีวิต? เราต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัย เราต้องการโรงเรียนสำหรับลูกหลานของเรา รถยนต์และรถไฟสำหรับการเดินทาง และอย่างอื่นอีกนับร้อยนับพัน

คุณสามารถมองไปรอบๆ ตัวคุณแล้วชี้อะไรมาสักอย่างที่ผลิตขึ้นมาโดยปราศจากแรงงานได้หรือเปล่า? ทำไมล่ะ แค่รองเท้าที่คุณสวมใส่ และถนนที่คุณใช้เดิน ก็ล้วนแต่เป็นผลมาจากแรงงานทั้งสิ้น ถ้าปราศจากแรงงานแล้วล่ะก็ โลกของเราก็จะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากโลกอันเปลือยเปล่า และชีวิตของมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น หมายความว่ากำลังแรงงานได้สร้างทุกๆ สิ่งที่เรามี ความมั่งคั้งทั้งมวลของโลกใบนี้ มันคือผลผลิตของกำลังแรงงานที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนโลกและทรัพยากรธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าความมั่งคั่งทั้งหมดล้วนมาจากกำลังแรงงาน แล้วทำไมมันถึงไม่เป็นของเหล่าคนงานล่ะ? ทำไมมันถึงไม่ได้เป็นของคนใช้สองมือและสมองของพวกเขาในการสร้างสิ่งเหล่านี้

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าคนแต่ละคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของในสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นมา

แต่ไม่มีใครหรอกที่ทำหรือสามารถทำอะไรก็ตามขึ้นมาได้ด้วยตัวเขาเองเพียงคนเดียว การผลิตนั้นใช้คนมากมาย ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปเพื่อที่จะสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา อย่างเช่นช่างไม้ไม่สามารถสร้างเก้าอี้ขึ้นมาได้ด้วยตัวของเขาเพียงคนเดียว ต่อให้เขาจะตัดไม้ด้วยตัวเองก็ตาม เพราะเขาต้องใช้เลื่อยและค้อน ตะปูและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเขาไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเองได้ หรือต่อให้เขาทำได้เอง เขาก็ต้องมีวัตถุดิบก่อน อย่างเช่นเหล็ก ซึ่งต้องให้คนอื่นหามาให้อยู่ดี

หรือลองดูตัวอย่างเพิ่มเติม เราลองมาพูดถึงวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลยถ้าหากไม่มีกระดาษและดินสอ รวมไปถึงเครื่องมือวัดต่างๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องมีคนผลิตมาให้เขา ไม่ต้องพูดไปถึงการที่เขาต้องเรียนรู้วิชาและศึกษาเป็นเวลาหลายปี โดยที่เขาไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลยในช่วงนั้น และนี่คือตัวอย่างที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้

คุณจะเห็นได้ว่าไม่มีใครที่สามารถดำรงชีวิตอยู่เพียงลำพังด้วยการผลิตสิ่งที่เข้าต้องการขึ้นมาเองทั้งหมด ในช่วงแรกๆ มนุษย์ยุคบุพกาลที่อาศัยอยู่ในถ้ำก็อาจจะกะเทาะหินมาทำเป็นขวาน หรือสร้างธนูกับลูกศรมาใช้เอง และดำรงชีวิตในรูปแบบนั้น แต่วันเวลาเหล่านั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนในปัจจุบันที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผลลิตของเขาเองคนเดียว พวกเขาต้องช่วยเหลือลงแรงร่วมกันคนอื่นๆ ดังนั้นทุกสิ่งที่เรามี ความมั่งคั่งทั้งมวลก็คือผลผลิตของแรงงานมนุษย์จำนวนมากที่ส่งผ่านมารุ่นต่อรุ่น จึงบอกได้ว่า กำลังแรงงานและผลผลิตจากกำลังแรงงานนั้นเป็นสังคมนิยม ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากสังคมโดยรวม

แต่ถ้าความมั่งคั่งทั้งมวลเป็นสังคมนิยม มันก็สมเหตุสมผลแล้วไม่ใช่หรือว่าความมั่งคั่งเหล่านั้นก็ต้องเป็นของสังคม เป็นของเหล่าผู้คนในฐานะมวลรวม แล้วมันเป็นไปได้อย่างไรกับการที่ความมั่งคั่งของโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นของคนทุกคน แต่ถูกครอบครองโดยคนเพียงแค่บางคนเท่านั้น? ทำไมมันถึงไม่เป็นของคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างมันขึ้นมา เหล่ามวลชนที่ใช้สมองและสองมือ เหล่าชนชั้นแรงงาน

คุณก็รู้ดีอยู่แล้วว่าคนที่ครอบครองความมั่งคั่งของโลกใบนี้ไว้มากที่สุดก็คือเหล่าชนชั้นนายทุน แล้วเราไม่ควรสรุปหรือว่า เหล่าแรงงานได้สูญเสียความมั่งคั่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา หรือมันได้ถูกพรากไปจากพวกเขา?

พวกเขาไม่ได้สูญเสียมันแต่อย่างใด เพราะพวกเขาไม่เคยเป็นเจ้าของมันเลย ดังนั้นหมายความว่ามันถูกพรากจากพวกเขาไปต่างหาก

เอาล่ะ นี่เริ่มจะจริงจังขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะว่าถ้าคุณบอกว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาสรรค์สร้างขึ้นมาได้ถูกพรากไปจากพวกเขา นั่นหมายความว่าพวกเขาถูกแย่งชิง ถูกปล้น เพราะเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะยอมให้สิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาถูกพรากไป

บทที่ 2: ระบบค่าแรง

คุณเคยหยุดถามคำถามนี้กับตัวเองบ้างไหม: ทำไมคุณถึงต้องเกิดมาจากพ่อกับแม่ของคุณ ไม่ใช่คนอื่น?

เอาล่ะ คุณน่าจะเข้าใจว่าผมกำลังจะพูดถึงอะไร ผมหมายความว่าความยินยอมของคุณไม่เคยถูกถามเลย คุณก็แค่เกิดมา ไม่มีโอกาสได้เลือกว่าจะเกิดที่ไหน หรือเกิดจากใคร มันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คุณเกิดมาไม่รวย บางทีพ่อแม่ของคุณเป็นชนชั้นกลาง หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้น ก็อาจจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน และนั่นทำให้คุณคือหนึ่งในคนนับล้าน มวลชนเหล่านั้น ผู้ที่ต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิต

คนที่มีเงินหน่อยก็สามารถเอาเงินไปทำธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมได้ เขาเอาเงินไปลงทุนและใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยกำไร แต่คุณไม่มีเงินนี่นา คุณมีแค่ความสามารถในการทำงาน กำลังแรงงานของคุณ

มันเคยมีช่วงเวลาที่คนทุกคนทำงานเพื่อตัวของพวกเขาเอง มันไม่มีโรงงาน และอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้ใหญ่โตอะไร คนพวกนี้มีเครื่องมือและห้องทำงานเล็กๆ เป็นของตัวเอง และพวกเขาก็ซื้อวัตถุดิบที่เขาต้องการมาเอง เขาทำงานเพื่อตัวเอง พวกเขาถูกเรียกว่าช่างศิลป์ หรือช่างฝีมือ

จากนั้นโรงงานและห้องทำงานขนาดใหญ่ก็เกิดขึ้น ทำให้ช่างฝีมือเหล่านั้นก็เริ่มเป็นอิสระน้อยลงเรื่อยๆ เพราะพวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานใหญ่ๆ ได้ เขาไม่สามารถผลิตสิ่งต่างๆ ให้มีราคาถูกได้เท่ากับที่โรงงานทำ ดังนั้นเหล่าช่างฝีมือพวกนี้ก็ต้องยอมแพ้แล้วเข้าไปทำงานในโรงงานเสีย

ในโรงงานขนาดใหญ่นั้น สิ่งต่างๆ ถูกผลิตออกมาในจำนวนมหาศาล การผลิตเป็นจำนวนเยอะๆ ที่ว่านี้ถูกเรียกว่า ลัทธิอุตสาหกรรม มันทำให้พวกนายจ้างและเจ้าของโรงงานร่ำรวยมาก ดังนั้นพวกที่ทรงอิทธิพลของวงการอุตสาหกรรมและการค้าก็ได้สะสมเงินตราและทุนเอาไว้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบนี้ถูกเรียกว่า ทุนนิยม พวกเราล้วนแต่ดำรงอยู่ในระบบทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมนั้น คนงานไม่สามารถทำงานเพื่อตัวเองเหมือนกับที่เคยทำในอดีต เขาไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนงาน คุณก็ต้องหาคนที่จะมาจ้างคุณ คุณทำงานให้เขา หมายความว่าคุณมอบแรงงานของคุณให้กับนายจ้างหลายๆ ชั่วโมงในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ และเขาก็จะจ่ายเงินให้คุณ คุณขายกำลังแรงงานของคุณ และเขาก็จ่ายค่าแรงกลับคืนมา

ในระบบทุนนิยม ชนชั้นแรงงานทั้งหมดล้วนแต่ขายกำลังแรงงานให้กันชนชั้นนายจ้าง พวกแรงงานสร้างโรงงาน สร้างเครื่องจักรและเครื่องมือ และผลิตสินค้าออกมา ส่วนพวกนายจ้างก็ครอบครองโรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ และสินค้าไว้กับตัวเองในฐานะกำไรของพวกเขา แรงงานได้รับเพียงค่าแรงเท่านั้น

ข้อตกลงที่ดำเนินไปเช่นนี้ถูกเรียกว่า ระบบค่าแรง

พวกมีการศึกษาได้ไขปัญหาว่าแท้จริงแล้วนั้น เหล่าแรงงานได้รับค่าแรงเป็นมูลค่าเพียง 1 ส่วน 10 จากมูลค่าของสินค้าที่พวกเขาผลิต อีก 9 ส่วน 10 นั้นถูกแบ่งกระจายไปสู่พวกเจ้าของที่ดิน เจ้าของโรงงาน บริษัทขนส่ง คนขายส่ง คนขายปลีก และคนกลางคนอื่นๆ

นั่นหมายความว่า:

แม้ว่าพวกคนงาน (ในฐานะชนชั้น) ได้สร้างโรงงานขึ้นมามากมาย แต่เสี้ยวของกำลังแรงงานที่พวกเขาลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ได้ถูกพรากจากพวกเขา ไปสู่สิทธิ์ในการใช้โรงงานของพวกเจ้าของที่ดิน เพราะนั่นคือกำไรของคนพวกนี้

แม้ว่าพวกแรงงานจะผลิตเครื่องมือและเครื่องจักร อีกเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของพวกเขาที่ลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ได้ถูกพรากจากพวกเขาไปสู่สิทธิ์ในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรเหล่านี้ของพวกเจ้าของการผลิต เพราะนั่นคือกำไรของคนพวกนี้

แม้ว่าพวกแรงงานจะสร้างทางรถไฟ อีกเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของพวกเขาที่ลงแรงไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ได้ถูกพรากจากพวกเขาไปสู่สิทธิ์ที่จะใช้เส้นทางเหล่านี้ในการขนส่งสินค้าที่พวกเขาผลิตขึ้น เพราะนั่นคือกำไรของเจ้าของสถานีรถไฟ

และอื่นๆ รวมถึงนายธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ในกับเจ้าของการผลิต พวกคนค้าส่ง คนค้าปลีก และคนกลางคนอื่นๆ คนพวกนี้ล้วนแต่พรากเสี้ยวหนึ่งของกำลังแรงงานของเหล่าคนงานที่ทำงานมาอย่างหนักไปทั้งสิ้น

สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ 1 ส่วน 10 ของมูลค่าของแรงงานของเหล่าคนงาน ที่กลายมาเป็นส่วนแบ่ง กลายมาเป็นค่าแรงของพวกเขา

คุณคงเดาออกแล้วล่ะว่าทำไมพรูดองถึงบอกว่า ทรัพย์สินของพวกคนรวยคือสิ่งที่ถูกขโมยมา ? มันถูกขโมยมาจากคนที่ผลิต เหล่าคนงาน

ดูแปลกดีไม่ใช่หรือ ว่าทำไมเรื่องพวกนี้ถึงเกิดขึ้นได้?

ใช่ มันแปลกเหลือเกิน และสิ่งที่แปลกที่สุดก็คือคนทั้งโลกก็รู้แต่ไม่มีใครทำอะไรกับมันเลย ที่แย่ไปกว่านั้นคือเหล่าคนงานก็ไม่ได้ทำอะไรเช่นกัน ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่าคนส่วนมากคิดว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว และระบบทุนนิยมที่ว่านี้ก็ดีอยู่แล้ว

เป็นเพราะว่าเหล่าคนงานไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา พวกเขาไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังถูกปล้นชิง ส่วนพวกที่เหลือก็เข้าใจเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย และเมื่อมีใครสักคนที่พยายามบอกเรื่องนี้ออกมาให้คนอื่นๆ ได้ฟัง พวกเขาก็จะตะโกนใส่คนๆ นั้นว่า “ไอ้พวกอนาธิปไตย!” ทำให้คนๆ นั้นสงบปากสงบคำลง แล้วก็จับเขายัดเข้าคุกเสีย

แน่นอนว่าพวกนายทุนก็พึงพอใจอย่างมากกับระบบทุนนิยมของพวกเขา ทำไมถึงไม่ควรเป็นแบบนั้นเล่า? ทั้งที่พวกเขาร่ำรวยได้ก็เพราะระบบนี้ ดังนั้น อย่าหวังว่าพวกเขาจะบอกว่าระบบนี้มันไม่ดี

ส่วนพวกชนชั้นกลางก็สนับสนุนพวกนายทุน พวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่บนแรงงานของชนชั้นแรงงานนั่นแหละ แล้วพวกเขาจะคัดค้านไปเพื่ออะไรกัน? แน่นอนว่าคุณอาจจะพบเหล่าชายหญิงชนชั้นกลางบางคนได้ลุกขึ้นมาพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่คนแบบนี้ก็จะโดนปิดปากเงียบ และโดนสบประมาทว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” เป็นพวกก่อกวนเสียสติ และพวกอนาธิปไตย

แต่คุณน่าจะคิดว่าเหล่าคนงานต่างหากที่ควรจะออกมาปฏิเสธทุนระบบนิยมก่อนเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากพวกเขาเป็นคนที่ถูกปล้นชิง และเป็นคนที่เจ็บปวดมากที่สุด

ใช่ ควรเป็นเช่นนั้น แต่กลับไม่ใช่ ซึ่งเป็นเรื่องแสนเศร้า

พวกเขารู้ว่ามีบางอย่างกำลังเอาเปรียบพวกเขาอยู่ รู้ว่าตนเองได้ทำงานอย่างหนักเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ และสิ่งตอบแทนที่เขาได้รับมามันก็เพียงพอสำหรับแค่นั้นจริงๆ หรือบางครั้งมันก็ไม่พอด้วยซ้ำไป พวกเขาเห็นว่าเหล่านายจ้างได้ขับรถยนต์แพงๆ และใช้ชีวิตอยู่ในความหรูหราเหลือประมาณ กับเมียของพวกเขาที่ได้ใส่เสื้อผ้าแพงๆ ประดับประดาร่างกายด้วยเพชรพลอย ในขณะที่เหล่าเมียของคนงานนั้นแทบจะไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าถูกๆ มาใส่ด้วยซ้ำ ดังนั้นเหล่าคนงานจึงหาทางที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเอง ด้วยการพยายามให้ตัวเองได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น กรณีนี้มันก็เหมือนกับว่า ผมตื่นขึ้นมากลางดึกในบ้านของผม แล้วพบว่ามีขอทานคนหนึ่งได้ขโมยของในบ้านของผมไปหมด และกำลังจะหนีไปกับสิ่งของเหล่านั้น แทนที่ผมจะหยุดเขาไว้ กลับกลายเป็นผมพูดกับเขาว่า ‘ขอร้องล่ะครับคุณขอทาน อย่างน้อยทิ้งเสื้อผ้าไว้ให้ผมสักชุดก็ยังดี ผมจะได้มีอะไรใส่’ จากนั้นก็กล่าวคำขอบคุณถ้าเขาทิ้งสิ่งของจำนวน 1 ส่วน 10 จากที่เขาขโมยไปไว้ให้ผม

แต่ผมจะพูดถึงเรื่องราวของผมต่อ เราจะกลับไปที่เหล่าคนงานเพื่อดูว่าพวกเขาพยายามที่จะพัฒนาชีวิตของตัวเองอย่างไร และมันได้ผลน้อยนิดแค่ไหน ในตอนนี้ผมอยากบอกคุณว่า เหล่าคนงานไม่ได้กระทืบไอ้ขอทานคนนั้นแล้วเหวี่ยงมันออกจากบ้านไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงร้องขอขนมปังหรือค่าแรงเพิ่มอีกนิดหน่อยก็ยังดี และเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เหวี่ยงพวกนายทุนออกไปให้พ้นเสียที

เป็นเพราะว่าเหล่าคนงานก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ บนโลก พวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้น และถ้ามีอะไรที่ออกนอกลู่นอกทางล่ะก็ นั่นเป็นเพราะว่า “มนุษย์มันเลวกันเอง” และทุกอย่างจะคลี่คลายไปด้วยดีในที่สุด ไม่ว่ากรณีใดๆ

คุณลองคิดดูว่ามันจริงหรือเปล่า ตอนที่คุณยังเด็ก และยังช่างซักช่างถาม คุณมักจะถูกบอกอยู่เสมอว่า “มันดีอยู่แล้ว” “มันต้องเป็นแบบนั้น” “พระเจ้าสร้างมาเช่นนั้น” และทุกสิ่งทุกอย่างโอเคดี

และคุณก็เชื่อตามที่พ่อกับแม่บอกคุณ เหมือนกับที่พวกเขาเชื่อพ่อกับแม่ของพวกเขา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงยังคิดเหมือนๆ กันกับปู่ของคุณ

หลังจากนั้น เมื่อคุณเข้าโรงเรียน คุณก็ถูกบอกแบบเดียวกัน คุณถูกสอนว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และโลกที่พระเจ้าสร้างก็ดีงามอยู่แล้ว มันต้องมีทั้งคนรวยและคนจน คุณควรจะเคารพนับถือเหล่าคนรวย และหัดยอมรับโชคชะตาของตัวเองเสียบ้าง คุณถูกบอกว่าประเทศของคุณยืนอยู่ข้างความยุติธรรม และคุณก็ต้องเชื่อฟังกฎหมาย พวกคุณครู พวกนักบวช และพวกนักเทศน์ก็จะบอกว่าชีวิตของคุณถูกลิขิตโดยพระเจ้าและความประสงค์ของเขา และเมื่อคุณเห็นคนจนถูกลากเข้าคุก พวกเขาก็จะบอกคุณว่าคนเหล่านั้นชั่วร้าย เขาขโมยของ และนี่คืออาชญกรรมอันร้ายแรง

แต่ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือที่โรงเรียน หรือที่ไหนๆ ก็ไม่มีทางที่คุณจะถูกบอกว่ามันคืออาชญกรรมของเหล่าคนรวยที่ขโมยผลผลิตที่เกิดจากกำลังแรงงานของคนอื่นไป หรือถูกบอกว่าพวกนายทุนนั้นร่ำรวยขึ้นมาได้ก็เพราะพวกเขาเอาความมั่งคั่งที่เหล่าแรงงานสร้างขึ้นมา มาเป็นของตัวเอง

ไม่มีทาง ไม่มีทางที่คุณจะถูกบอกแบบนั้น ไม่มีใครเคยได้ยินสิ่งเหล่านี้จากโรงเรียนหรือโบสถ์ แล้วคุณจะคาดหวังให้เหล่าคนงานได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร?

ในทางกลับกัน เมื่อคุณยังเป็นเด็ก จิตใจของคุณก็ถูกเติมเต็มไปด้วความคิดผิดๆ ซึ่งจะทำให้คุณจะประหลาดใจเหลือประมาณถ้าได้ยินความจริง

บางทีในตอนนี้คุณอาจจะเห็นแล้วว่า ทำไมเหล่าคนงานถึงไม่เข้าใจว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาถึงถูกขโมยไปจากพวกเขา และยังคงถูกขโมยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“แต่กฏหมาย” คุณถาม “รัฐบาลจะยอมให้เกิดการปล้นชิงเช่นนี้ได้อย่างไร? มันไม่ได้ถูกห้ามโดยกฏหมายหรอกหรือ?”