Title: ความมั่งคั่งของเรา
Subtitle: The Conquest of Bread, Chapter 1: Our Wealth (Abridged)
Author: Peter Kropotkin
Topic: Introductory
Language: Thai
Date: 1892
Notes: แปลสรุปหนังสือขนมปัง ปีเตอร์ โครพอทคิน (Seems to be an abridged and unfinished translation ~ Librarian)

      1

      2

      3

1

ตลอดหลายพันปีประวัติศาสตร์มนุษย์ มนุษย์เราได้อาศัยสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนหน้า มนุษย์ยุคก่อนได้ทำไร่ ถางป่า ตลอดจนสร้างเครื่องมือเครื่องจักร เครื่องจักรเหล่านี้ทำให้เราใช้คนน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ในการผลิตอาหารและสิ่งของต่างๆ ทำให้เราผลิตสิ่งต่างๆได้มากขึ้นกว่าตอนอยู่ในธรรมชาติเป็นสิบๆเท่า และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกความมั่งคั่งที่ส่งต่อมาถึงรุ่นเรา

อุตสาหกรรมได้เติบโตก้าวกระโดด คนงานเหมืองถ่านหินร้อยคนสามารถสร้างเชื้อเพลิงได้เพียงพอสำหรับคนหนึ่งหมื่นครอบครัว เราได้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่าคนงานเพียงไม่กี่คน สามารถสร้างความสว่างไสวให้กับทั้งเมืองปารีสได้ภายในไม่กี่เดือน ในงาน Paris Exhibition ปี 1889 และ 1900

จริงๆแล้วพวกเราร่ำรวย รวยกว่าที่เราคิด แต่ชีวิตที่ดีกลับไม่ได้มีสำหรับพวกเราทุกคน

2

ในสังคมแห่งความศิวิไลซ์ พวกเราร่ำรวยมั่งคั่ง แต่ทำไมถึงยังมีคนจนมากมายล่ะ ทำไมคนงานที่เก่งที่สุดยังไม่มีความแน่นอนในชีวิต ทั้งๆที่เรามีมรดกความมั่งคั่งที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรษ ทั้งๆที่เรามีการผลิตอันสุดยอด แต่เรากลับทำให้เราสบายได้ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน

นักสังคมนิยมได้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มันเป็นเพราะสิ่งที่จำเป็นต่อการผลิต ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เหมืองแร่ ถนน เครื่องจักร อาหาร บ้านพัก การศึกษา ความรู้ ล้วนถูกครอบครองโดยคนจำนวนน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขโมยปล้นชิงอันยาวนาน มันเป็นเพราะชนชั้นนำอ้างว่าเป็นสิทธิที่ตนได้มาตั้งแต่อดีต มันเป็นเพราะแรงงานได้ถูกด้อยค่าให้เป็นฝุ่น แรงงานไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตเฉยๆได้สักเดือนหรือแม้แต่สัปดาห์ ยิ่งกว่านั้น แรงงานถูกบังคับให้ทำงานเอาชีวิตรอดไปวันๆโดยไม่ได้ส่วนแบ่ง คนจำนวนน้อยกีดกันไม่ให้คนส่วนใหญ่ได้ผลิตในสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่กลับบังคับคนส่วนใหญ่ให้ผลิตสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตพวกเขาเลย เพียงแต่สิ่งนั้นสร้างกำไรมหาศาลให้กับเหล่านายทุนผูกขาด

ในบ้านเมืองที่เจริญแล้ว อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ เพิ่มพูนเป็นคลังสมบัติ แต่พวกเราจะเกิดและตายในความเศร้า ด้วยการถูกกดขี่และเจ็บป่วยคุกคามจากนายทุน ความอ่อนล้าตรากตำทำงานหนัก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นมรดกที่ถูกส่งทอดมาถึงพวกเราในศตวรรษนี้

ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา มีคนหลายล้านคนที่ถูกเกณฑ์แรงงงาน ให้ถางป่า ขุดคลอง สร้างเมือง สร้างถนน พรวนดิน ปลูกข้าว พื้นที่ทุกตารางนิ้วล้วนมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการใช้แรงงานทั้งสิ้น ท่ามกลางความอ่อนล้าตรากตรำ ความทุกระทมข่มขื่นของผู้คน ทุกกิโลของเส้นทางรถไฟ ทุกอุโมงค์ที่ถูกขุด ล้วนสร้างจากหยดเลือดและหยาดเหงื่อของมนุษย์ทั้งสิ้น

ในเมืองอันสวยงาม ถ้าเราขุดดูใต้เมืองนั้นเราจะเจอประวัติศาสตร์และที่มาของความรุ่งเรืองในทุกวันนี้ พบคนรุ่นก่อนๆที่ตายไปก่อนหน้า เช่นเดียวกับบ้านเรือน โรงงาน ที่เห็นตอนนี้ ก็ล้วนเกิดขึ้นเพราะการสั่งสมแรงงานของคนงานมากมายหลายล้านที่ได้ตายและถูกฝังไปแล้ว และทุกอะตอมที่หลอมรวมเป็นความมั่งคั่งแห่งประชาชาติ ล้วนเป็นหนี้ของแรงงานเหล่านั้นที่สร้างขึ้นมา

พวกเขาหลายล้านได้สร้างความเจริญนี้ขึ้นมา ในขณะที่แรงงานอีกหลายล้านคนกำลังใช้แรงงานเพื่อรักษาความเจริญนี้ ถ้าปราศจากพวกเขา ห้าสิบปีต่อจากนี้ย่อมไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากเศษซาก

นักคิด นักประดิษฐ์มากมาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง และหลายคนที่ตายไปพร้อมกับความขัดสน เขาเหล่านั้นได้ร่วมสร้างร่วมคิดเครื่องจักรที่กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบางคนในปัจจุบัน

นักเขียน กวี นักปราชญ์ จำนวนมากที่ได้ใช้แรงงานเพื่อผลิตเพิ่มพูนความรู้ เขาเหล่านั้นก็อาศัยการสนับสนุนจากแรงงานในยุคก่อนหน้า

เครื่องจักรทั้งหลายล้วนมีประวัติศาสตร์เดียวกัน ประวัติศาสตร์ของการอดหลับอดนอน ความขัดสนยากจน การค้นพบ การปรับปรุงต่อยอดของแรงงานไม่ปรากฏชื่อมากมายหลายรุ่น ที่ได้ตกแต่งต่อเติมจากสิ่งประดิษฐ์เริ่มแรกที่แทบไม่มีอะไร ถ้าไม่มีความคิดเหล่านี้ ก็ย่อมไม่มีผลผลิต ทุกการค้นพบ ทุกความก้าวหน้า ทุกการเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยของมนุษย์ ล้วนเป็นหนี้ทั้งทางกายและใจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แล้วสิทธิอะไรที่ทำให้ใครหน้าไหนกล้าที่จะพูดอย่างเหมาะสมว่า “นี่เป็นของกู ไม่ใช่ของพวกมึง”

3

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการผลิตทุกวันนี้ก็ถูกยึดครองโดยคนจำนวนน้อย ที่ดินที่ถูกคนจำนวนน้อยห้ามไม่ให้คนเพาะปลูก ถ่านหินที่ถูกคนจำนวนน้อยสั่งให้ผลิตอย่างจำกัด และเครื่องจักรที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวสุดพิเศษของคนไม่กี่คน แม้ว่าเครื่องจักรนั้นจะถูกจะถูกพัฒนาโดยแรงงานอย่างน้อย 3-4 รุ่น แต่หากทายาทของผู้พัฒนาบอกว่าขอใช้บ้าง หรือทายาทของแรงงานที่ขุดอุโมงค์สร้างรถไฟขอหุ้นส่วนจากบริษัทบ้าง สิ่งที่เขาจะได้กลับเป็นลูกปืนและระเบิด

ในระบบปีศาจหน้าเลือด ลูกของแรงงานจะไม่มีทางเข้าถึงที่ดินที่ปลูกเองได้ หรือมีเครื่องจักรที่ผลิตเองได้ หรือมีเหมืองที่ขุดเองได้ เขาจะต้องขายแรงงานเพื่อแลกค่าแรงกันตาย และทายาทของเขาก็จะเกิดมาอย่างยากจนที่สุด ผลผลิตส่วนหนึ่งของเขาจะถูกขโมยโดยนายจ้าง อีกส่วนถูกขโมยจากรัฐและพ่อค้าคนกลาง ซึ่งส่วนแบ่งพวกนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเขาต้องทำงานไม่สิ้นสุด

เราเกลียดระบบศักดินาไพร่ทาส เราบอกว่านั่นคือยุคป่าเถื่อน แต่ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แรงงานยังคงถูกบังคับ ภายใต้ชื่อสัญญาจ้างอิสระ เพื่อให้เรายอมรับเงื่อนไขศักดินา ทุกอย่างในโลกกลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของคนรวย และแรงงานจะต้องยอมรับ หรือไม่ก็ต้องอดตาย

ทุกอย่างทำให้เห็นว่าการผลิตของเราดำเนินมาผิดทิศทาง บริษัทสนใจแต่การเพิ่มกำไร และเมื่อถึงจุดวิกฤตแรงงานคือคนกลุ่มแรกที่ถูกลอยแพออก คนงานไม่สามารถเลือกได้ว่าจะผลิตอะไร บริษัทเสาะหาตลาดต่างชาติเพื่อขายสินค้าให้คนรวยประเทศอื่นๆ ไม่นานก็เริ่มมีคู่แข่ง สงครามจะปะทุขึ้น เสียงปืนไม่เคยหยุดดังในโลกทุนนิยม รัฐในยุโรปใช้งบหนึ่งในสามไปกับการทหาร และภาระภาษีอันหนังอึ้งนั้นตกอยู่กับคนงาน

การศึกษายังคงเป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนกลุ่มเล็ก นักการเมืองบางส่วนอาจเห็นด้วยกับการขยายโอกาสและสิทธิทางการเมือง แต่ไม่นานนักเมื่อเหล่าผู้ใช้แรงงานเริ่มเข้มแข็งขึ้น พวกเขาจะเปลี่ยนข้างใช้กฎหมายปราบปรามและปกครองด้วยปืน สถาบันศาล ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ล้วนจำเป็นต่อการคงไว้ซึ่งชนชั้นนำ ซึ่งนำมาสู่การจารกรรม ก่อการร้าย ทุจริตคอรัปชั่น

เราต่างรู้ดีว่าถ้ามนุษย์ไม่เคารพกัน ไม่ช่วยเหลือกัน สังคมนี้ย่อมพังทลาย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจชนชั้นปกครอง และพวกมันจะสอนเราด้วยวิทยาศาสตร์เทียมในทางตรงกันข้าม

พระเทศน์ว่าคนมั่งมีควรแบ่งปันให้กับคนที่ขัดสน ฟังดูดี แต่นั่นคือคำโกหกขนานใหญ่ พวกเราและเด็กๆถูกทำให้เคยชินกับสังคมปากว่าตาขยิบเช่นนี้ เราถูกล้างสมองด้วยการโน้มน้าวบิดเบือน

แต่สังคมเช่นนี้ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ผลจากการผูกขาดจะทำให้สังคมมนุษย์กลับไปสู้กฎพื้นฐานข้อแรก การผลิตคือการทำงานร่วมกันของมนุษยชาติ ผลผลิตคือทรัพย์สินส่วนรวมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ของทุกอย่างย่อมมีสำหรับทุกคน ไม่มีใครมีสิทธิยึดแล้วพูดว่า “นี่เป็นของกู ถ้าอยากได้ต้องจ่ายให้กู” ไม่มีระบบศักดินาอีกต่อไป ถ้ามีการแบ่งงานอย่างเป็นธรรม แบ่งผลผลิตอย่างเป็นธรรม ผลผลิตนั้นมากพอที่จะสร้างชีวิตที่ดีให้ทุกคนได้อย่างมั่นคง พวกเราจะประกาศว่า สิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน!