Title: ผู้หญิงกับอนาธิปไตย
Language: Thai
Publication: DinDeng
Date: 2015
Notes: Thai translation of “Women and Anarchism

[เรา] เหล่าสตรีจำต้องฉกฉวยที่ทางของเรามาอย่างเรียบง่ายโดยมิต้องอ้อนวอน
ลูอิส มิเชล

เป็นอันชัดเจนว่าลัทธิอนาธิปไตยนั้นไปได้ดีกับการปลดแอกผู้หญิง อนาธิปไตยประกาศตนว่าต่อต้านลำดับชั้นทุกรูปแบบ ซึ่งนั่นรวมถึงการกดขี่ผู้หญิงด้วย

มิคาเอล บาคูนิน (Michael Bakunin) นักอนาธิปไตยคนสำคัญเคยกล่าวไว้ว่า “เหล่าสตรีที่ถูกกดขี่! พึงระลึกไว้ว่าท่านมีเป้าหมายร่วมกันกับเหล่ากรรมกรนั่นแหละ ไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็ล้วนแต่ต้องสู้ด้วยหลักการเดียวกัน” ดังนั้นการเรียกร้องให้เกิดการปลดปล่อยผู้หญิงก็ถูกผนวกรวมอยู่ในแผนการเคลื่อนไหวของบาคูนินและมิตรสหายของเขาในช่วงทศวรรษ 1860 ถึง 1870 ด้วย ตัวอย่างเช่นในเอกสาร หลักการและองค์กรแห่งคณะภราดรภาพสากล (Principles and Organisation of the International Brotherhood 1866) ที่เขียนเอาไว้ว่า

“ผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชายแต่ก็ไม่ได้ด้อยกว่า พวกเธอมีปัญญา ความอุตสาหะ และเสรีภาพเช่นเดียวกันกับผู้ชาย มีความเท่าเทียมทั้งในด้านสิทธิทางสังคมการเมืองและหน้าที่ทางสังคม (ของทั้งสองเพศ – ผู้แปล)” เขายังกล่าวต่ออีกว่า “แต่ในทางกฎหมายแล้ว แม้แต่ผู้หญิงที่มีการศึกษาที่สุด ฉลาดที่สุด ก็ยังด้อยกว่าผู้ชายที่แสนโง่เขลาเสียอีก”

ข้อถกเถียงของบาคูนินที่มีต่อเสรีทางเพศของสตรีแสดงให้เห็นว่ากฎหมายทำให้ผู้หญิงกลายเป็น “ผู้อยู่ใต้การปกครองของเพศชายโดยสัมบูรณ์” [1] อย่างไรก็ตาม บาคูนินก็ยังมีความคิดที่ล้าหลังไม่ต่างจากคนอื่นๆ เช่นในงานเลี้ยงอาหารเย็นที่เมืองซูริค เขาสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังดื่มไวน์ และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่ผู้หญิงจะดื่มของมึนเมา การถกเถียงเรื่องสิทธิของสตรีที่ตามมาในภายหลังก็ยังชัดเจนอยู่ว่าบาคูนินไม่ชอบใจนักเวลาที่เขาเห็นผู้หญิงสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า! มันจึงทำให้เราเห็นภาพของการปะทะกันระหว่างทฤษฎีของการปลดแอกกับความคิดอันโบราณคร่ำครึที่ยึดโยงกับธรรมเนียมและการเหมารวม โชคยังดีที่เหล่าผู้หญิงในแวดวงปัญญาชนรัสเซียได้ออกมาเคลื่อนไหวและผลักดันประเด็นดังกล่าวในขบวนการการปฏิวัติ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้บุกเบิกแผ้วทางให้เกิดการปลดแอกขึ้น

ในขณะที่อย่างน้อยบาคูนินก็เป็นผู้หนึ่งที่มีทฤษฎีและแนวคิดไปในทางก้าวหน้าเกี่ยวกับการปลดแอกสตรี แต่นักคิดชาวฝรั่งเศสรุ่นก่อนเขาอย่าง ปิแอร์-โจเซฟ พรูดอง (Pierre-Joseph Proudhon) กลับเห็นแย้งอย่างหัวชนฝาต่อมุมมองในเรื่องนี้

อัจริยภาพคือจิตวิญญาณที่สมความเป็นชายและการประกอบเข้าด้วยกันของอำนาจเชิงนามธรรม หลักเกณฑ์ ความสร้างสรรค์ และความเข้าใจต่อเรื่องต่างๆ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว พวกเด็ก พวกขันที (ในที่นี้พรูดองอาจจะหมายถึงชายที่ไม่สมชาย – ผู้แปล) และผู้หญิงไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย

ในทัศนะของพรูดอง ผู้หญิงถูกธรรมชาติสร้างมาเพื่อเป็นกลไกในการสืบเผ่าพันธ์ุเพียงเท่านั้น และในเชิงกายภาพพวกเธอก็ย่อมด้อยกว่าผู้ชาย พรูดองสนับสนุนข้อเสนอของตัวเองด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์แบบปลอมๆ นอกเหนือจากหน้าที่ในการสืบเผ่าพันธ์ุแล้ว ผู้หญิงก็ไม่มีเหตุผลอะไรในการดำรงอยู่และเอาแต่ผลาญเงินผู้ชาย ผู้หญิงมีบทบาทเพียงแค่ 2 อย่างเท่านั้นคือ “แม่บ้านหรือโสเภณี” เขายังกล่าวต่อไปว่า การฆ่าภรรยานั้นเป็นเรื่องสมควรแล้วในกรณีที่พวกเธอ “มีชู้ โอหัง กระด้างกระเดื่อง ขี้เมาเสเพล สุรุ่ยสุร่ายหรือขี้ขโมย และขัดขืนดื้อดึง” พรูดองมัดรวมคำด่าทอเหล่านี้เอาไว้ด้วยคำพูดอันยืดยาว เป็นการต่อต้านพวกมักมากในกามและพวกเพศที่สาม[2]

มุมมองต่อผู้หญิงของพรูดองถูกท้าทายอย่างรุนแรงจาก จูเลียต แลมเบิร์ต (Juliette Lambert (Adam)) ซึ่งเธอได้โต้ตอบเอาไว้ใน ต่อต้านแนวคิดเรื่องสตรี ความรัก, และการแต่งงาน ของลัทธิพรูดอง (Anti-Proudhonist ideas on Woman , Love and Marriage, 1858) เธอวิพากษ์อย่างรุนแรงในหนังสือของเธอว่า “ผู้ชายอย่างพรูดองนั้นอยากให้พวกเรากลับไปสู่สังคมชายเป็นใหญ่โดยการกักขังผู้หญิงเอาไว้แต่ในครอบครัว” ส่วนงานของ เจนนี เดรีกูรท์ (Jenny d’Héricourt) ได้กล่าวเกี่ยวกับมุมมองที่พรูดองมีต่อผู้หญิงไว้ว่า “พรูดอง: ผู้หญิงเป็นพวกไร้ค่าแบบที่ไม่อาจเยียวยาได้ ซึ่งสมควรจะหุบปากเงียบๆ อยู่ใน Gynaeceum (γυναικεῖον) และรีดนมวัวไปวันๆ”[3] นอกจากนี้ โจเซฟ เดฌากค์ (Joseph Déjacque) นักปฏิวัติผู้มีความคิดก้าวหน้ากว่าพรูดองหลายขุมก็ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในปี 1882 ว่า

“เป็นไปได้หรือ ท่านนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ที่เราจะได้พบเจอแต่ความโง่เขลาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้หนังสิงโตของท่าน […] คุณพ่อพรูดองครับ ผมพูดได้ใช่ไหม [พูดได้ไหมคะพี่จี้… -บก.] เวลาที่ท่านพูดถึงผู้หญิงทีไร เหมือนกับท่านกลายเป็นพวกเด็กนักเรียนที่เอาแต่โวยวายด้วยเสียงแหลมๆ พูดเรื่อยเปื่อยและมีแต่ความโอหัง ทำตัวรู้ดี เหมือนกับที่ชอบทำกับพวกสาวกวัยละอ่อนที่นิยมชมชอบในตัวท่าน คนอย่างท่านไม่รู้จักในสิ่งที่ตัวเองกำลังกล่าวถึงด้วยซ้ำ […] ฟังนะครับท่านพรูดอง! ก่อนที่ท่านจะพูดเกี่ยวกับผู้หญิง ท่านควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเธอเสียก่อน ไปโรงเรียนซะ หยุดเรียกตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปไตย หรือไม่ก็ทำตัวให้สมกับการเป็นนักอนาธิปไตยหน่อย ถ้าท่านอยากจะพูดให้เราฟังเกี่ยวกับความไม่รู้และความรู้ พระเจ้าที่ชั่วช้า ทรัพย์สินคือการปล้น ท่านก็พูดมาเถิด แต่เวลาพูดถึงผู้ชาย ท่านช่วยเลิกยกยอให้พวกเขาเป็นพวกเทพบุตรผู้มีอำนาจเหลือล้นเสียที เพราะผมจะกล่าวตอบท่านว่า ผู้ชายนี่แหละที่ชั่วร้าย ความฉลาดเฉลียวมิใช่คุณสมบัติของพวกเขา แต่เป็นสิทธิ์ในการเอาชนะ ความรักที่ผูกติดกับเรื่องเงินทอง การขูดรีดทุนที่มาจากผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งผลผลิตที่มาจากจิตวิญญาณของพวกเธอ อย่าอาจหาญที่จะกล่าวว่าพวกผู้ชายมีคุณสมบัติที่ได้มาจากผู้อื่น ไม่เช่นนั้นผมก็คงบอกท่านได้คำเดียวว่า ‘[การครอบครอง]ทรัพย์สินคือการปล้น’ […] ท่านครับ จงทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเถอะ นั่นคือการส่งเสียงเพื่อต่อต้านการกดขี่ผู้หญิงโดยพวกผู้ชาย”

ในเวลาต่อมา นักอนาธิปไตย เอลีซี เรกลูส์ (Elisée Reclus) ก็ยังพูดอย่างไม่พอใจเกี่ยวกับพรูดองว่า

“…คำพูดเกี่ยวกับผู้หญิงของเขานั้นยังคงเป็นเรื่องที่หนักหนาที่สุดสำหรับพวกเรา”[4]

เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าผู้หญิงเข้าร่วมกับขบวนการอนาธิปไตยเพราะพวกเธอถูกดึงดูดด้วยความคิดใหม่ๆ ในการปลดแอกเพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่ในทุกๆ ขบวนการ พวกเธอกลับถูกบังคับให้ต้องต่อสู้กับทัศนคติหัวโบราณและมีแต่ความเอนเอียงของมิตรสหายเพศชาย แต่กระนั้นพวกเธอก็ยังไม่ยอมแพ้ เมื่อเราพูดถึงนักอนาธิปไตยสตรี ชื่อของ เอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman), โวลแทร์รีน เดอ เคลย์ (Voltairine de Cleyre), ลูอิส มิเชล (Louise Michel), และลูซี่ พาร์สัน (Lucy Parsons) มักจะเป็นรายชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง แต่ยังมีนักอนาธิปไตยหญิงอีกหลายคนที่มีความมุ่งมั่น อุทิศตนและกล้าหาญไม่แพ้กัน หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงชีวิตของพวกเธอเหล่านั้นที่มักไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก[5] (เหตุผลว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงไม่มีประวัติของ เอมมา โกลด์แมน ก็เพราะเธอมักถูกพูดถึงในที่อื่นๆ เป็นประจำอยู่แล้ว)

ลูอิส มิเชล นักอนาธิปไตยสตรีและสมาชิกปารีสคอมมูนชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวเอาไว้ว่า

สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนแปลงก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเพศ มนุษย์มีสองส่วนคือผู้ชายกับผู้หญิงและเราควรจะเดินเคียงข้างกันไป แต่เรากลับเป็นปรปักษ์กัน มันจะเป็นเช่นนี้ตราบนานเท่านาน ถ้าฝ่ายที่คิดว่าตนเอง ‘แข็งแกร่ง’ กว่ายังพยายามควบคุมฝ่ายที่พวกเขาคิดว่า ‘อ่อนแอ’ กว่า [6]

ในขณะที่ความเข้าใจเรื่องเพศในยุคสมัยใหม่นั้นขัดแย้งกับการแบ่งเพศออกเป็น 2 เพศหลักๆ แต่หัวใจสำคัญของความคิดนี้ ที่ว่าเราต้องต่อสู้กับระบบที่กดขี่ผู้อื่นโดยใช้เพศสภาพเป็นตัวตั้งนั้นยังคงเป็นจริงอยู่

เมื่อผู้หญิงในขบวนการอนาธิปไตยเริ่มจัดตั้งตนเองอย่างอิสระมากขึ้น เช่น ในอาร์เจนตินาและสเปน พวกเธอต้องประสบกับการคัดค้านจากพรรคพวกบางคนที่เป็นผู้ชาย ในอาร์เจนตินา นักอนาธิปไตยหญิงได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ ‘เสียงของผู้หญิง’ (La Voz de la Mujer) เพื่ออ้างอิงถึงถ้อยคำ ‘ไร้พระเจ้า ไร้นาย ไร้สามี’ (No God, No Boss, No Husband)[7] หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อธิบายตนเองว่า “ทุ่มเทให้กับความก้าวหน้าของอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์” หัวข้อหลักของมันคือการพูดถึงการกดขี่ผู้หญิงในหลายๆ ลักษณะ บรรณาธิการได้เสริมว่า “เราเชื่อว่าในสังคมทุกวันนี้ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าอนาถใจมากไปกว่าเหล่าสตรีอีกแล้ว” พวกเธอยังกล่าวต่อไปอีก “ผู้หญิงถูกกดขี่ซ้ำสองทั้งจากสังคมกระฎุมพี และจากพวกผู้ชาย” ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการตอบรับอย่างแรงกล้าโดยบางส่วนของขบวนการเคลื่อนไหวในอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตาม มีบทความหนึ่งใน ‘La Voz de La Mujer’ ที่ออกความเห็นอย่างดุเดือดเอาไว้ด้วยเช่นกัน

“เมื่อผู้หญิงที่โง่เขลาเบาปัญญาและไม่เป็นที่ยอมรับอย่างพวกเราหันมาเริ่มต้นตีพิมพ์เผยแพร่ La Voz de la Mujer แน่ล่ะ อย่างไรเราก็รู้ก่อนอยู่แล้วว่า โอ้ อันธพาลพวกนี้จะตอบรับความคิดริเริ่มของพวกเราด้วยปรัชญาทื่อๆ ล้าสมัยของพวกเอ็งเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้ พวกท่านควรตระหนักเสียทีว่าพวกเรา หญิงโง่ ก็มีความสร้างสรรค์เหมือนกัน และมันคือผลผลิตของความคิด ท่านรู้ไหม เรายังนึกต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเราเผยแพร่ออกไป จะต้องมีพวกปากหมาออกมาสาดน้ำลายกันยกใหญ่อย่างแน่นอน ‘ปลดแอกผู้หญิงหรือ เพื่ออะไรกัน’ ‘ปลดแอกผู้หญิงหรือ ไม่มีทาง!’ … ‘ให้การปลดแอกของพวกฉันมาถึงเสียก่อน เมื่อผู้ชายถูกปลดปล่อยและมีเสรีภาพแล้ว ค่อยไปว่ากันเรื่องผู้หญิงนะ’

การปรากฏขึ้นขององค์กรอิสระนิยมสตรี Mujeres Libres ในช่วงการปฏิวัติและสงครามกลางเมืองสเปน ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงที่คล้ายคลึงกัน อย่างที่ มาร์ธา เอ. เอคเคลส์เบิร์ก (Martha A. Ackelsberg) ได้หมายเหตุเอาไว้ในบทความ ‘แบ่งแยกและเท่าเทียม: Mujeres Libres กับยุทธวิธีแนวอนาธิปไตยสำหรับการปลดแอกสตรี’ (Separate and equal: Mujeres Libres and anarchist strategy for women’s emancipation) ว่า

“ในขณะที่ให้คำมั่นสัญญาในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม นักอนาธิปไตยสเปนยังคงแสดงให้เห็นถึงทัศนคติอันซับซ้อนต่อการตกเป็นรองของผู้หญิง บางคนให้เหตุผลว่าการที่ผู้หญิงตกอยู่ใต้บัญชา (ของผู้ชาย – ผู้แปล) นั้นมีต้นกำเนิดมาจากการแบ่งงานกันทำโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนด จาก “การอยู่แต่ในบ้าน” ของผู้หญิง และจากการที่พวกเธอถูกกีดกันออกจากการทำงานที่ได้รับค่าจ้าง เพื่อที่จะก้าวผ่านตรงนี้ไป เหล่าสตรีต้องเข้าสู่การใช้แรงงานในฐานะคนงาน ร่วมกับพวกผู้ชาย และต่อสู้ในสหภาพแรงงานเพื่อยกระดับคนงานทั้งหมด บางคนยืนกรานว่าการตกเป็นรองของผู้หญิงนั้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการลดคุณค่าผู้หญิงพร้อมทั้งกิจกรรมของพวกเธอให้อยู่เพียงสถาบันบางอย่าง เช่น ครอบครัวและโบสถ์ ถ้าสังคมอนาธิปไตยถูกสถาปนาขึ้นมาได้ การลดทอนคุณค่าเช่นนี้ก็จะสิ้นสุดเสียที รวมถึงสถาบันเหล่านั้นด้วย

แต่การตกเป็นรองของสตรีกลับเป็นเรื่องที่ไม่มีความสำคัญเอาเสียเลยสำหรับนักอนาธิปไตยทั้งมวล พวกเขาส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่มีความสลักสำคัญอันใดนัก และมีผู้ชายจำนวนเพียงน้อยนิดที่จะยอมละทิ้งอำนาจเหนือผู้หญิงที่พวกเขาเคยครอบครองมาเนิ่นนาน ดั่งที่เลขาธิการของสหภาพแรงงานแห่งชาติ (Confederación Nacional del Trabajo – CNT) เคยเขียนไว้ในปี 1935 เพื่อตอบกลับชุดบทความในประเด็นเกี่ยวกับสตรีเอาไว้ว่า “เรารู้ว่าการออกคำสั่งนั้นให้ความพึงพอใจมากกว่าการเชื่อฟังคำสั่ง… ไม่ต่างกันเลยระหว่างหญิงกับชาย ผู้ชายรู้สึกพอใจที่มีคนคอยรับใช้ คอยทำอาหารให้กิน คอยซักล้างเสื้อผ้าของเขา… นั่นเป็นความจริง และถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาล่ะก็ การร้องของให้เขาละทิ้ง [อภิสิทธิ์ของพวกเขา] เป็นความฝันเฟื่อง”

ทัศนคติของ ซาทูร์นิโน คารอด (Saturnino Carod) ผู้นำกลุ่มนักอนาธิปไตยแนวหน้าแห่งอารากอน (Aragon) ได้รวบยอดมุมมองของเหล่านักอนาธิปไตยชายทั้งหลายที่มีต่อปัญหาการปลดแอกผู้หญิงในสังคมที่ความคิดแบบผู้ชาย และความเหนือกว่าของบุรุษเพศได้ซึมซาบอย่างลงลึก เขาพูดว่า “ จะอย่างไรก็ตาม การถกเถียงเกี่ยวกับการปลดแอกสตรี จำต้องกล่าวถึงบทบาททางสังคมของผู้หญิงด้วย โดยเฉพาะในฐานะมารดา และเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานที่ต้องใช้กำลังความแข็งแรง มันไม่ถูกต้องที่จะให้หญิงสาวไปทำงานหาเลี้ยงตัวเองเหมือนกับที่ผู้ชายทำ”

ปัจจุบันเรายังคงต้องเผชิญกับปัญหานานาประการที่จะต้องเอาชนะมันไปให้ได้ พวกฝ่ายซ้ายอำนาจนิยมแสดงให้เราเห็นแล้วว่ามันมีวัฒนธรรมการซุกซ่อนปัญหาการข่มขืน และการทารุณสตรีเอาไว้ใต้พรม รวมถึงการไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีตำแหน่งสูงๆ หรือตำแหน่งสำคัญในพรรค เราต้องไม่นิ่งนอนใจแล้วคิดว่าปัญหาเช่นนี้ไม่เกิดกับขบวนการอนาธิปไตย และผู้หญิงไม่ได้ประสบกับปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ไม่ถูกเหยียดหยามจากผู้ชาย ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร และอื่นๆ การที่เราจะสร้างขบวนการอนาธิปไตยที่แท้จริง เราก็ต้องเรียกร้องการปลดแอกสตรีด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการพูดเกี่ยวกับระบบการเลี้ยงเด็กแบบส่วนรวม การทำให้สถานเลี้ยงเด็กเป็นสาธารณะ การคุมกำเนิด สิทธิในร่างกายตนเอง สิทธิในการตั้งคำถามเกี่ยวกับงานที่ไม่ได้รับค่าแรง การต่อสู้เพื่อค่าแรงที่เท่าเทียม การปฏิรูปงานบ้าน แต่ว่าเราควรจะตั้งคำถามและยกประเด็นเรื่องการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ และการเหมารวมเพศหญิงที่มักจะปรากฏในสื่อหรือโฆษณา เราต้องต่อต้านการคุกคามทางเพศในทุกแห่งหน ทั้งบนถนน ในที่ทำงาน รวมถึงในบ้าน รวมไปถึงเราต้องเปิดโอกาสและช่วยเหลือทางการแพทย์ให้แก่ผู้ที่ต้องการข้ามเพศด้วย ถ้าพูดรวมๆ แล้วก็คือ มันคือการต่อต้านความเกลียดชังเพศหญิงเชิงโครงสร้าง และรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น การเกลียดกลัวผู้หญิงข้ามเพศ (transmisogyny) และการเกลียดชังสตรีผิวดำ (misogynoir)

เหล่านี่คือการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมที่ต้องถูกยกมาเป็นประเด็นในขบวนการของเราอย่างจริงจัง


ถ้าปราศจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้ว ความพยายามในการปฏิวัติสังคมใดๆ ก็ย่อมไม่เพียงพอและถูกเมินเฉยจากเหล่าสตรี ที่ต้องการการแตกหักที่ราดิคัลต่อระบบอันชั่วร้าย กดขี่ และแบ่งชนชั้นเช่นนี้ เท่านั้นเอง

[1] อ้างจาก Sam Dolgoff, Bakunin on Anarchism (1980)

[2] อ้างจาก Pierre-Joseph Proudhon, La justice dans la révolution et dans l’église (1858)

[3] อ้างจาก Jenny d’Héricourt, La Femme Affranchie (1860) – Gynaeceum คือพื้นที่ของผู้หญิงในสมัยกรีก มักจะแบ่งสัดส่วนออกไปให้อยู่ห่างไกลตัวบ้าน และเป็นที่รวมตัวกันของผู้หญิงในเวลากลางวัน พื้นที่ลักษณะนี้ยังปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมอินเดีย และศาสนาอิสลามด้วย

[4] คำพูดนี้ของเรกลูส์สามารถตีความได้ว่า ในฐานะที่พรูดองเป็นนักอนาธิปไตยผู้มีชื่อเสียง และเป็นคนแรกที่กล่าวว่าตนเองเป็นนักอนาธิปไตย แต่ความคิดหลายๆ อย่างของเขานั้นดูไม่ก้าวหน้าเอาเสียเลย นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผู้อื่นอ้างความคิดแย่ๆ ของพรูดองมาครหาขบวนการอนาธิปไตยในภายหลังได้ และส่งผลให้เกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อในความคิดและตัวตนของพรูดองด้วย

[5] เนื่องจากบทความแปลนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Revolutionary Women ซึ่งรวบรวมประวัตินักอนาธิปไตยหญิงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเอาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเธอมีที่ทางในประวัติศาสตร์มากขึ้น

[6] อ้างจาก Louise Michel, Red Virgin: Memoirs Of Louise Michel (2003)

[7] ไร้พระเจ้า ไร้นาย (No Gods, No Masters) เป็นคำขวัญของลัทธิอนาธิปไตยที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจใดๆ ดังนั้นนักอนาธิปไตยสตรีกลุ่มนี้จึงเอามาเพิ่มเติมว่า ‘ไร้สามี’ เพื่อต่อต้านอำนาจของผู้ชาย