Title: มานุษยวิทยากับอนาธิปไตย
Author: Brian Morris
Language: Thai
Publication: Slaves Without Masters
Date: 2014
Notes: ต้นฉบับ: Morris, Brian. 2014. “Anthropology and Anarchism.” Anthropology, Ecology, and Anarchism. Oakland: PM Press.
ผู้แปล: Peam Pooyongyut

มานุษยวิทยากับอนาธิปไตยนั้นมี “ความเกี่ยวดองกันอย่างสมัครใจ” อยู่หลายทางด้วยกัน แม้ว่าสิ่งที่มานุษยวิทยาสนใจจะศึกษานั้นมีหลายหลาก ถูกซอยย่อยออกไป และการสำรวจของมันก็ค่อนข้างที่จะกว้าง เนื่องจากเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้วก็ยังมีความเฉพาะเจาะจงอยู่ นั่นคือการศึกษาสภาพสังคมก่อนที่จะมีรัฐ

เพียงแต่ว่ายังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการพรรณาถึงลักษณะของมานุษยวิทยาในอดีต ว่าเป็นการศึกษากลุ่มคนที่เรียกว่า “ชนบุพกาล” (primitive people) หรือ กลุ่มคนที่ “มาจากประเทศหรือดินแดนอื่น” (exotic) เช่นนั้นแล้ว พวกเขาจึงมีการกระทำหรือปฏิบัติการที่ “ป่าเถื่อน” และ “ขาดหายไป” ซึ่งวัฒนธรรม การมองเช่นนี้เจือไปด้วยอคติพอสมควร และเป็นการอธิบายมานุษยวิทยาที่ไม่แม่นยำนัก เนื่องจากสาขาวิชานี้ก็มีธรรมเนียม “การศึกษามานุษยวิทยาในบ้านเกิด” มาเป็นเวลานาน และงานศึกษาทางมานุษยวิทยาหลายชิ้น ก็มีสนามอยู่ในประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องน่าสังเกตว่างานของ เจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford) และ จอร์จ มาร์คัส (George Marcus) (1986) ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นงานรากฐานของงานมานุษยวิทยาเชิงวรรณกรรมหรือมานุษยวิทยาหลังสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่จะละเลยมานุษยวิทยาแบบสตรีนิยม แต่ยังปฏิเสธงานชาติพันธ์ุวรรณาที่เขียนโดยนักวิชาการที่ไม่ใช่ “ชาวตะวันตก” ไปโดยสิ้นเชิง เช่นงานของ ศรีนิวาส (M. N. Srinivas) เคนยัตตา (Jomo Kenyatta) เฟย (Fei Xiaotong) และ อัยยัพพัน (A. Aiyappan) เป็นต้น แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ มานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาของสังคมศาสตร์ ที่เน้นย้ำให้ความสำคัญแก่สังคมที่ถูกมองว่าเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างของอนาธิปัตย์ สังคมที่ปราศจากรัฐ อันที่จริงงานของ อีแวน-พริทชาร์ด (E. E. Evan-Pritchard) ที่ศึกษากลุ่มชนเผ่านูเอร์ (Nuer People) (1940) ก็ได้อธิบายระบบการเมืองของพวกเขาว่าเป็นเหมือนกับ “สภาวะอนาธิปัตย์ที่มีระเบียบ” ส่วนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลน่าสนใจของ แฮโรลด์ บาร์เคลย์ (Harold Barclay) ที่ชื่อว่า กลุ่มชนผู้ไร้รัฐ (People Without Government) (1992) นั้นมีชื่อรองที่มีนัยสำคัญว่า มานุษยวิทยาของอนาธิปัตย์ (The Anthropology of Anarchism) โดยบาร์เคลย์ก็ได้แยกแยะความแตกต่างระว่าง อนาธิปัตย์ (anarchy) ซึ่งหมายถึงสังคมที่ถูกจัดระเบียบโดยไม่ต้องมีรัฐ กับอนาธิปไตย (anarchism) ซึ่งหมายถึงขบวนการและธรรมเนียมทางการเมืองที่เริ่มปรากฎอย่างเด่นชัดในช่วงศตวรรษที่ 19

นักมานุษยวิทยากับลัทธิอนาธิปไตย: รีคลูส์ (Reclus) บูร์เกล (Bouglé) มอส (Mauss) และแรดคลิฟฟ์-บราวน์ (Radcliffe-Brown)

บทความชิ้นนี้ต้องการสำรวจความเชื่อมโยงบางประการระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับมานุษยวิทยา โดยจะสำรวจนักมานุษยวิทยาบางคนที่มีความสัมพันธ์กับแนวทางแบบอนาธิปไตย ตรวจสอบอย่างคร่าวๆ ว่านักอนาธิปไตยเหล่านี้ใช้แง่มุมทางมานุษยวิทยาใส่เข้าไปในงานเขียนของพวกเขาอย่างไร และสุดท้ายผมจะสรุปด้วยข้อไตร่ตรองส่วนตัวที่มีต่อลัทธิอนาธิปไตย

นักมานุษยวิทยาหลายต่อหลายคนมีความเกี่ยวพันกับอนาธิปไตย หนึ่งในงานเขียนชาติพันธ์ุชิ้นแรกๆ คือหนังสือของ อีลี รีคลูส์ (Élie Reclus) ที่มีชื่อว่า ชนบุพกาล (Primitive Folk) ตีพิมพ์ในปี 1903 และมีชื่อรองว่า การศึกษาชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยการรวมตัว (Studies in Corporative Ethnology) งานชิ้นนี้ยึดเอาข้อมูลที่ได้จากข้อเขียนของนักเดินทางและผู้เผยแพร่ศาสนา มีกลิ่นอายของทฤษฎีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่มักจะกล่าวถึงทฤษฎีดังกล่าว แต่หนังสือเล่มนี้ของรีคลูส์มีความเข้าอกเข้าใจต่อกลุ่มชนอย่าง อาปาเช่ (Apache) นายาร์ (Nayar) โทดา (Toda) และอินูอิท (Inuit) อยู่พอสมควร เขายืนยันว่ากลุ่มวัฒนธรรมเหล่านี้มีความเสมอกันกับ “รัฐที่ถูกมองว่าเจริญแล้ว” ทั้งในด้านศีลธรรมและปัญญา และน่าสนใจอย่างยิ่งว่ารีคลูส์ใช้คำว่า Inuit (ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติ) ที่มีความหมายว่า “ผู้คน” แทนการใช้ศัพท์ภาษาฝรั่งเศส เอสกิโม (Eskimo) อีลีเป็นพี่ชายและสหายชั่วชีวิตกับ อีลีซี (Élisée Reclus) ซึ่งเป็นนักภูมิศาสตร์และนักอนาธิปไตยผู้มีชื่อเสียงกว่าคนพี่

นักมานุษยวิทยาฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งที่มีความเห็นพ้องกับลัทธิอนาธิปไตยก็คือ เซเลสทีน บูร์เกล (Célestin Bouglé) ที่ไม่เพียงแต่เขียนงานคลาสสิคเกี่ยวกับระบบวรรณะของอินเดีย (1908) แต่ยังมีงานชิ้นสำคัญที่ศึกษาเกี่ยวกับพรูดอง (Proudhon) ด้วย บูร์เกลเป็นคนแรกๆ ที่ยืนยันว่าพรูดองเป็นนักสังคมวิทยา (1911)(คำยืนยันนี้ของบูร์เกลเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง) ในความเป็นจริงนั้น มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างแนวทางของวิชาสังคมวิทยาฝรั่งเศสที่มีเดิอร์กเคม (Emile Durkheim) เป็นจุดโฟกัส กับลัทธิอนาธิปไตยและสังคมนิยม แม้ว่าตัวเดิร์กเคมเองจะเป็นปรปักษ์กับอนาธิปไตยแบบที่เน้นย้ำความเป็นปัจเจกก็ตาม เดิร์กเคมเป็นพวกสังคมนิยมแบบกิลด์ (guild) แต่หลานของเขา มาเซล มอสส์ (Marcel Mauss) เขียนงานคลาสสิคที่ชื่อว่า ของขวัญ (The Gift) (1925) ที่พูดถึงการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนหรือการให้ของขวัญในวัฒนธรรมก่อนตัวอักษร หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยแนวคิดอนาธิปไตย แต่มันยังเป็นงานพิ้นฐานของวิชามานุษยวิทยาที่เหล่านักมานุษยวิทยามือใหม่ต้องอ่าน ส่วนนักมานุษยวิทยาอังกฤษมีความเชื่อมโยงกับอนาธิปไตยน้อยกว่า แต่ก็มีเรื่องให้ชวนจำเอาไว้ว่า บุคคลที่ถูกเรียกว่าเป็น “บิดา” ของวิชามานุษยวิทยาเกาะอังกฤษ เอ.อาร์ แรดคลิฟฟ์-บราวน์ (A.R. Radcliffe-Brown) เคยเป็นนักอนาธิปไตยในตอนที่เขายังหนุ่ม

อัลเฟรด บราวน์ เป็นเด็กหนุ่มจากเบอร์มิงแฮม เขามุ่งหวังและเตรียมพร้อมที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยมีพี่ชายคอยสนับสนุน บุคคลที่ส่งอิทธิพลต่อเขามีอยู่สองคนด้วยกัน คนแรกคือ อัลเฟรด ไวท์เฮด (Alfred Whitehead) ซึ่งทฤษฎีเกี่ยวกับองค์อินทรีย์ของเขามีอิทธิพลต่อแรดคลิฟฟ์-บราวน์ เป็นอย่างมาก ส่วนอีกคนหนึ่งคือ โครพอทคิน (Peter Kropotkin) ที่งานเขียนของเขาเป็นสิ่งที่บราวน์อ่านอยู่เป็นประจำ ในช่วงเวลาที่ยังเป็นนักศึกษา แรดคลิฟฟ์-บราวน์ถูกรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “บราวน์อนาธิปัตย์” แต่ช่างโชคร้าย! ออกซ์ฟอร์ดทำให้เขาเปลี่ยนไป ภายหลังบราวน์จึงกลายมาเป็นปัญญาชนหัวสูง และเปลี่ยนชื่อด้วยการเพิ่มขีดเข้าไปเป็น “เอ. อาร์. แรดคลิฟฟ์-บราวน์” แต่ก็อย่างที่ ทิม อินโกลด์ (Tim Ingold) ได้เขียนเอาไว้ว่า งานของแรดคลิฟฟ์-บราวน์ อบอวลไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตทางสังคม แม้ว่ามันจะมีความคล้ายคลึงกับหน้าที่นิยมแบบเดิร์กเคม แต่เขาก็มักจะพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง อำนาจ และประวัติศาสตร์เป็นหลัก (1986)

แม้ว่าอนาธิปไตยจะมีอิทธิพลต่อมานุษยวิทยาเพียงเล็กน้อย แต่นักมานุษยวิทยาหลายคนก็ถูกมองว่าเป็นพวกเสรีนิยมราดิคัลและนักสังคมนิยม (เช่นโบแอส ราดิน และไดมอนด์) ส่วนนักอนาธิปไตยกลับดึงเอาแนวคิดมานุษยวิทยาไปใช้อย่างแพร่หลาย จริงๆ แล้วมีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างอนาธิปไตยและมาร์กซิสต์ในการมองวิชามานุษยวิทยา นักอนาธิปไตยเกี่ยวพันกับงานชาติพันธ์ุวรรณาเป็นหลัก ส่วนมาร์กซิสต์นั้นดูจะไม่ค่อยใยดีมานุษยวิทยาสักเท่าไหร่ พวกเขาเมินเฉยแม้กระทั่งความสนใจทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ของมาร์กซ์และเองเกลส์ งานอันโด่งดังของเองเกลส์ ต้นกำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ (The Origin of the Family, Private Property and the State) (1884) มีฐานเกือบทั้งหมดมาจากงานทางมานุษยวิทยาของ ลิวอิส มอร์แกน (Lewis Morgan) สังคมโบราณ (Ancient Society) (1877) ถ้าลองตรวจสอบงานมาร์กซิสต์คลาสสิค เช่นงานของเลนิน ทรอสกี้ กรัมชี่ ลูคัส ก็จะพบมุมมองแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง และมองข้ามมานุษยวิทยาไปสิ้น ในพจนานุกรมความคิดมาร์กซิสต์ (Bottomore 1983) คำว่า “มานุษยวิทยา” ถูกอธิบายโดยไม่กล่าวถึงงานของมาร์กซ์และเองเกลส์ รวมทั้งเหล่านักมานุษยวิทยาสายมาร์กซิสต์ฝรั่งเศสช่วงปี 1970 เลย ที่น่าประหลาดใจพอกันก็คืองานมาร์กซิสต์ชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า ระบบการผลิตก่อนทุนนิยม (Pre-Capitalist Modes of Production) (Hindness and Hirst 1975) ไม่เพียงแต่จะเสนอว่า “วัตถุ” ในเชิงทฤษฎีนั้นไม่มีจริง และปฏิเสธประวัติศาสตร์ในฐานะหัวข้อที่ควรศึกษา แต่ยังมองข้ามมานุษยวิทยาไปโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้สมเหตุสมผลเนื่องจากทัศนคติของนักวิชาการมาร์กซิสต์หลายๆ คนที่ไม่ไยดีลัทธิอนาธิปไตยเลย ตัวอย่างเช่น เพอร์รี่ แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และธอมป์สัน (E.P. Thompson)

นักอนาธิปไตยกับมานุษยวิทยา: โครพอทคิน (Kropotkin) บุ๊คชิน (Bookchin) แคลสท์ (Clastres) เซอร์ซาน (Zerzan)

ในการตรวจสอบเหล่านักอนาธิปไตยที่ใช้วิชามานุษยวิทยาในงานของพวกเขา ผมจะพูดถึงนักเขียนเพียงสี่คนเท่านั้น ได้แก่ โครพอทคิน (Peter Kropotkin) บุ๊คชิน (Murray Bookchin) แคลสท์ (Pierre Clastres) และ เซอร์ซาน (John Zerzan)

โครพอทคินนั้นเป็นนักอนาธิปไตยที่มีชื่อเสียง แต่ก็เป็นนักภูมิศาสตร์ด้วย และการที่เขาเดินทางไปหลากหลายที่ในทวีปเอเชีย ทำให้เขามีความสนใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้ปรากฏออกมาในงานเขียนคลาสสิคของเขา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Mutual Aid) ตีพิมพ์ในปี 1903 ในหนังสือเล่มนี้โครพอทคินได้พยายามที่จะแสดงให้เห็นว่า ชีวิตในทางสังคมและองค์อินทรีย์นั้นไม่ได้เป็นสนามประลองที่จะมีแต่ความขัดแย้ง การแข่งขัน หรือกฏ “ผู้แข็งแกร่งจึงอยู่รอด” เพียงเท่านั้น แต่พื้นที่เหล่านี้ยังมีลักษณะของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการระบบที่เอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย มันเป็นมิติทางนิเวศวิทยาที่มาจากความคิดของดาร์วิน ปรากฏออกมาในบทสุดท้ายของหนังสือ กำเนิดสปีชี่ส์ (The Origin of Species) ซึ่งสำหรับโครพอทคินแล้วเขามองว่าความคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การร่วมมือกันต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับกระบวนการของวิวัฒนาการ แทนที่จะเป็นการต่อสู้ฆ่าฟัน ตัวอย่างที่เขายกขึ้นมาก็คือบรรดาไลเคนส์ที่ขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป เป็นหนึ่งในรูปแบบของชีวิตที่พื้นฐานที่สุด และสามารถพบเห็นได้ทุกที่

หนังสือของโครพอทคินให้รายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์เช่นชนเผ่าเบอร์แยต (Buryat) หรือชนเผ่าคาบิล (Kabyle) (คนสองกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันดีในงานของบูร์เดียร์) แต่ยังพูดถึงเมืองในยุคกลาง และสังคมยุโรปในปัจจุบันอีกด้วย ในหนังสือ ASA Monograph on Socialism (Hann 1993) มีบทความอยู่ 2 ชิ้นที่กล่าวถึงภาวะอธิปัตย์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ในปัจจุบัน อลัน บาร์นาร์ด (Alan Barnard) เขียนถึงประเด็น “คอมมิวนิสต์ยุคบุพกาล” และ “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ของกลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายคาลาฮารีบริเวณแอฟริกาใต้ ในขณะที่ โจอันนา โอเวอริง (Joanna Overing) เขียนถึงเรื่อง “สภาวะอนาธิปัตย์ กับแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วม” (anarchy and collectivism) ในกลุ่มชนเผ่าปิอาโรอา (Piaroa) ในประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งมีระบบการผลิตแบบการปลูกพืชสวนไว้บริโภค บทความของเบอร์นาร์ดมีชื่อรองว่า “โครพอทคินไปเยือนพวกบุชแมน” ชี้ให้เห็นว่าอนาธิปไตยยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจในสายตาของนักมานุษยวิทยาบางคน

โครพอทคินมีความสนใจที่จะทำความเข้าใจ “อัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์” (creative genius) ของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่เขาอธิบายว่าเป็น “ยุคสมัยแบบแคลน (clan)” ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และสนใจศึกษาพัฒนาการของสถาบันต่างๆ ที่สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์ แต่นี่ไม่ได้นำมาซึ่งการปฏิเสธสิทธิในตัวตนแบบปัจเจก และโครพอทคินก็ต่างจากนักมานุษยวิทยาคนอื่นๆ เพราะเขามองว่าความเป็นเอกเทศ (individuality) กับสิทธิในตัวตนของปัจเจกนั้น มีความแตกต่างจากแนวคิดปัจเจกนิยม (individualism)

เมอร์เรย์ บุ๊คชิน (Murray Bookchin) เป็นบุคคลที่แนวคิดของเขาก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง เช่นการสนับสนุนสภาประชาชนและการจัดการตนเองแบบเทศบาล การเน้นย้ำศักยภาพของเมืองในการเป็นชุมชนเชิงนิเวศ การวิพากษ์อย่างแข็งกร้าวต่อเหล่านักนิเวศที่เกลียดชังมนุษย์และสรรเสริญธรรมชาติเกินเหตุ ซึ่งเขามักจะโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้อยู่เสมอ แต่บุ๊คชินเป็นพวกที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการวิภาษวิธี และประวัติศาสตร์ การกล่าวถึงความสำเร็จของมนุษยชาติ ทำให้เขาก้าวขาเข้ามาในวิชามานุษยวิทยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานของเขาได้อิทธิพลมาจาก พอล ราดิน (Paul Radin) และ โดโรธี ลี (Dorothy Lee) ทั้งคู่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชนดั้งเดิมในอเมริกา ในหนังสือ นิเวศวิทยาของเสรีภาพ (The Ecology of Freedom) (1982) บุ๊คชินอุทิศบทหนึ่งเพื่ออธิบายในสิ่งที่เขาเรียกว่า “สังคมอินทรีย์ (organic society)” เพื่อเน้นย้ำถึงลักษณะสำคัญในสังคมมนุษย์ยุคบุพกาล ความเสมอภาคเริ่มต้นที่ปราศจากค่านิยมในการบังคับครอบงำ ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างปัจเจกแต่ละคนและเครือญาติในชุมชน ความตระหนักในเรื่องทรัพย์สินส่วนรวม ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิทธิในการบริโภคผลผลิต และความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติซึ่งมีลักษณะต่างตอบแทนอย่างกลมกลืน มากกว่าการครอบครอง แต่บุ๊คชินก็เรียกร้องให้เราเรียนรู้จากอดีต และเรียนรู้จากวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในยุคก่อนที่จะมีตัวอักษร แทนที่จะมองชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์ในแบบโรแมนติก หรือพยายามเลียนแบบพวกเขา

ปิแอร์ แคลสท์ (Pierre Clastres) เป็นทั้งนักอนาธิปไตยและนักมานุษยวิทยา งานคลาสสิคของเขามีชื่อว่า “สังคม ต้าน รัฐ (Society against the State)” (1977) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้ เช่นชนเผ่าอาเช่ (Aché) เช่นเดียวกับ ทอม เพน (Tom Paine) และนักอนาธิปไตยรุ่นก่อนหน้า แคลทส์ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงข้อแตกต่างระหว่างสังคมกับรัฐ และเสนอว่าแก่นสารของสิ่งที่เขาเรียกว่าสังคม “โบราณ” ทั้งแบบหาของป่าล่าสัตว์หรือยุคหินใหม่ที่มีการปลูกพืชสวน ก็คือการใช้วิธีการเชิงสถาบันเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจแยกออกจากชีวิตทางสังคม เขารำพึงรำพันว่าปรัชญาการเมืองแบบโลกตะวันตกไม่สามารถมองเห็นอำนาจในรูปแบบอื่นนอกเหนือไปจาก “ความสัมพันธ์แบบเผด็จการของคำสั่งและการทำตามคำสั่งที่เป็นไปตามลำดับชั้น” ดังนั้นตะวันตกจึงมองอำนาจว่าเป็นเรื่องของการบังคับ แคลสท์ได้ทบทวนอ่านงานชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับกลุ่มชนในอเมริกาใต้ที่ไม่ใช่ชนเผ่าอินคา แคลทส์เสนอว่าคนเหล่านี้มีความแตกต่างจากอินคาตรงที่ว่าพวกเขา “มีความตระหนักถึงประชาธิปไตยและแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม” ซึ่งแม้แต่คนที่เป็นหัวหน้าเผ่ายังขาดซึ่งอำนาจในเชิงบีบบังคับด้วยซ้ำไป สำหรับแคลสท์แล้ว สังคมโบราณมักถูกมองว่าจะต้องเต็มไปด้วยอำนาจแบบบีบบังคับ ซึ่งกลายเป็นว่าสารัตถะของมันคือการปฏิเสธการพึ่งพาอาศัยกัน เขาโต้แย้งว่าความเกรี้ยวกราดป่าเถื่อนของสังคมชนเผ่าถูกพูดกันเกินจริงไปมาก ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองไม่ได้ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อหนีจากความอดอยาก เพราะในสภาวะปกติก็มีอาหารให้บริโภคกันอย่างอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ชุมชนเหล่านั้นจึงเป็นนักเสมอภาคนิยมโดยแก่นแท้ พวกเขาสามารถควบคุมกำหนดชีวิตและกิจกรรมของตัวเองได้ สำหรับแคลสท์ จุดหักเหสำคัญของสังคม “โบราณ” ไปเป็นสังคม “ในประวัติศาสตร์” นั้นไม่ใช่การปฏิวัติยุคหินใหม่หรือการมาถึงของการเกษตร แต่เป็น “การปฏิวัติทางการเมือง” ที่มีการทำเกษตรในระดับเข้มข้นและการปรากฏออกมาของสิ่งที่เรียกว่า รัฐ

ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์ของแคลสท์ถูกยืนยันโดย จอห์น เกลดฮิลล์ (John Gledhill) (1994) ซึ่งให้คำวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อทฤษฎีปรัชญาการเมืองตะวันตกที่นิยามอำนาจในเชิงบีบบังคับ และชี้แนะให้ลดการมองประวัติศาสตร์ในแบบสัญลักษณ์ โดยมองมันในเชิงกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์คือการพยายามที่จะธำรงรักษาความเป็นอิสระของตนเอาไว้ และยืนหยัดต่อต้านการบุกรุกและการกดขี่ที่ถูกรวมศูนย์ตามธรรมชาติของรัฐ

ในขณะที่แคลสท์และบุ๊คชินมองว่า การครอบงำทางการเมืองและสังคมแบบลำดับชั้นเริ่มต้นขึ้นจากการทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการเกิดขึ้นของรัฐ แต่สำหรับ จอห์น เซอร์ซาน (John Zerzan) เขามีความเห็นต่าง โดยมองว่าการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามบ้านเรือนคือสิ่งที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของยุคที่มนุษย์จะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ การเกษตรในตัวมันเองคือความแปลกแยกรูปแบบหนึ่ง มันแสดงถึงนัยของการสูญเสียการติดต่อกับโลกธรรมชาติ การมาถึงของเกษตรกรรมจึงนำมาซึ่ง “จุดจบความความไร้เดียงสา” และการล่มสลายของ “ยุคทอง” เหมือนกับการที่มนุษย์ถูกขับออกจาก “สวนอีเดน” อย่างไรก็ตาม อีเดนไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นสวน แต่เป็นการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์ ไม่น่าแปลกใจเลยกับการที่เซอร์ซาน (1988, 1994) นำเอาข้อมูลเชิงมานุษยวิทยามาสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับ “บุพกาลนิยม” (primitivism) ของเขา และเพื่อพรรณาให้เห็นว่าสังคมแบบหาของป่าล่าสัตว์นั้นเป็นสังคมเสมอภาคนิยม เป็นของแท้ (authentic) และเป็น “การปรับตัวเข้าหาธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยทำมา” (1988) เซอร์ซานมองว่าแม้แต่วัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ และลัทธิหมอผี (shamanism) ที่ดำรงควบคู่กับสังคมหาของป่าล่าสัตว์นั้นมีนัยเริ่มต้นของการพยายามที่จะควบคุมใช้งานธรรมชาติและมนุษย์คนอื่นๆ เขาเสนอให้เห็นถึงโลกหลังวันพิพากษา แม้ว่าเขาจะไม่เชื่อพระเจ้าก็ตาม เซอร์ซานอธิบายว่าอดีตของเราที่เคยเป็นสังคมแบบหาของป่าล่าสัตว์นั้นเป็นยุคที่สงบสุขและงดงาม เต็มไปด้วยคุณความดี และเป็นชีวิตที่แท้จริง ส่วนแปดพันปีต่อมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ หลังจากการล่มสลาย (คือการเกิดขึ้นของการเกษตร) ถูกมองว่าเป็นความชั่วร้าย การควบคุมแบบลำดับชั้น การทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเครื่องจักรทำให้ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ลดลงไป นำมาซึ่งความด้านชาทางการรับรู้ ผลผลิตต่างๆ ที่เกิดจากจินตนาการอันสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ศิลปะ ปรัชญา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ชีวิตในเมือง วัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ ล้วนแต่ถูกเซอร์ซานมองในแง่ลบทั้งสิ้น เขาบอกว่าอนาคตเราจะเป็น “บุพกาลนิยม” เซอร์ซานไม่ได้บอกอะไรกับเราในประเด็นนี้ ว่ามันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไรในสภาวะที่โลกใบนี้ต้องแบกรับมนุษย์เอาไว้ราว 6 พันล้านคน หลักฐานบ่งชี้ว่าวิถีชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์นั้นสามารถเลี้ยงดูมนุษย์ได้แค่เพียงหนึ่งหรือสองคนต่อตารางไมล์ หรือว่า “บุพกาลนิยมโลกอนาคต” คงจะมาถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่การกลับไปสู่พระเจ้าแต่เป็นการดำรงชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ ในขณะที่นักนิเวศวิทยาสายราดิคัลมักจะเชิดชูยุคทองของเกษตรกรรมแบบชาวนา แต่เซอร์ซานเป็นพวกที่คล้ายกับ ฟาน เดอร์ โพสต์ (Laurens van der Post) ที่สรรเสริญวิถีชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์ โดยนำเอางานทางมานุษยวิทยามาผนวกเข้าไป ไม่ว่า “ภาพจอมปลอมของลัทธิบุพกาล” ในตัวของมันเองจะเป็นอาการเหินห่างจากผู้คนในเมือง และปัญญาชนในโลกธรรมชาติ ดังที่บุ๊คชิน (1995) และเรย์ อัลเลน (1986) กล่าวไว้หรือไม่ก็ตาม ผมก็คงจะปล่อยให้คนอื่นตัดสินกันเอง

บทสะท้อนว่าด้วยลัทธิอนาธิปไตย

คำว่า [anarchy] มีรากมาจากกรีก มีความหมายอย่างตรงๆ ว่า “ไร้ผู้ปกครอง” นักอนาธิปไตยคือคนที่ปฏิเสธการปกครอง หรืออำนาจบีบบังคับ รวมทั้งลำดับชั้นและการครอบงำทุกรูปแบบด้วย พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่นักอนาธิปไตยชาวเม็กซิกัน ฟลอเรส มากอน (Flores Magón) เรียกว่า “ความมืดมนสามอย่าง” ได้แก่รัฐ ทุน และโบสถ์ นักอนาธิปไตยจึงต่อต้านทั้งทุนนิยมและรัฐไปพร้อมกัน รวมถึงอำนาจทางศาสนา แต่นักอนาธิปไตยก็เสาะหาการสถาปนาสภาวะอนาธิปัตย์ในหลายๆ วิธี เช่นสังคมกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (decentralised society) ที่ปราศจากสถาบันซึ่งใช้อำนาจบีบบังคับ สังคมที่จัดการตนเองผ่านสหพันธ์และการรวมกลุ่มแบบสมัครใจ ทั้งนี้ พวกนักอิสระนิยมฝ่ายขวาอย่างเช่น มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) รอธบาร์ด (Rothbard) และอาย แรนด์ (Ayn Rand) ที่มักจะถูกนิยามอยู่บ่อยครั้งว่าเป็น “นักอนาธิปไตยทุนนิยม” และพวกที่แก้ต่างให้ทุนนิยมอย่างขันแข็งนั้น ไม่ได้มีเซนส์ของอนาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างใด

สิ่งสำคัญคือ เหล่านักอนาธิปไตยให้การสนับสนุนคุณค่าที่เกิดขึ้นมาในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ และเชื่ออย่างหนักแน่นว่าคุณค่าเหล่านี้ขึ้นตรงซึ่งกันและกัน ดังที่บาคูนิน (Mikhail Bakunin) ได้กล่าวเอาไว้ว่า “เสรีภาพที่ปราศจากสังคมนิยมก็คือความเป็นอภิสิทธิ์ชนและความอยุติธรรม และสังคมนิยมที่ปราศจากเสรีภาพก็คือการตกเป็นทาสและความโหดเหี้ยม” จึงเป็นที่แน่นอนว่าเหล่านักอนาธิปไตยมักจะวิพากษ์วิจารณ์คอมมิวนิสม์แบบโซเวียต และคำวิพากษ์ที่รุนแรงต่อแนวคิดของมาร์กซ์ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และระบอบแบบโซเวียตนั้นมักจะมาจากเหล่านักอนาธิปไตยทั้งสิ้น เช่น เบิร์กแมน (Alexander Berkman) โกลด์แมน (Emma Goldman) และมักซิมอฟฟ์ (Gregori Maximoff) งานของมักซิมอฟฟ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญอย่างมากมีชื่อว่า กิลโยตินกำลังทำงาน (The Guillotine at Work) (1940) ในหนังสือเล่มนี้เขาอธิบายว่าการเมืองของเลนินและทรอสกี้นั้นไม่ต่างอะไรไปจากพวกจาโคแบงในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเลย คือเป็นพวกปฏิกิริยาเหมือนกัน

จากการล่มสลายของระบอบโซเวียตทำให้ตอนนี้พวกมาร์กซิสต์กำลังอยู่ในสภาวะสับสนและแตกแยก ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางใด ได้แต่มองหาจุดที่พวกเขาจะทอดสมอทางการเมือง พวกเขามุ่งไปหาทั้งฮาเยค (Hayek) หรือไม่ก็เคนส์ (Keynes) แต่ไม่ว่าจะไปทางไหน การสร้างสังคมนิยมของพวกเขาก็หลุดจากเส้นทางเดิมไปแล้ว นักเขียนอนุรักษ์นิยมอย่าง โรเจอร์ สครูตัน (Roger Scruton) นั้นดูพึงใจกับการโจมตีเหล่ามาร์กซิสต์ว่าปิดหูปิดตาไม่เผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับโซเวียต แต่คนอย่างสครูตันกลับมืดบอดเมื่อต้องพูดถึงระบบทุนนิยม และสิ่งที่มันสร้างขึ้นมา เช่นความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การปราบปรามทางการเมือง และการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เคยถูกพูดออกมาจากปากของพวกแก้ต่างให้กับทุนนิยมอย่างเช่นสครูตัน หรือฟูกูยาม่า (Francis Fukuyama) เลย พวกเขามองแค่ว่ามันเป็นปัญหา “พื้นๆ” ที่จะต้องก้าวผ่านไป แต่ไม่ได้มองว่ามันสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบทุนนิยม

อนาธิปไตยสามารถถูกมองได้สองรูปแบบ ดังนี้

ในทางหนึ่งมันถูกมองว่าคล้ายกับ “แม่น้ำ” ดังที่ พีเตอร์ มาร์แชล (Peter Marshall) ได้อธิบายไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์อนาธิปไตย (2010) ของเขาเอาไว้ว่า อนาธิปไตยถูกมองว่าเป็น “แรงดลใจแบบอิสระนิยม” หรือ “ความรู้สึกแบบอนาธิปัตย์” ที่ดำรงอยู่มาตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งแรงดลใจเหล่านี้ก็ได้แสดงออกมาในหลายๆ วิธี เช่นในงานเขียนของเล่าจื๊อและลัทธิเต๋า ในแนวคิดของกรีกโบราณ ในความรู้สึกร่วมของสังคมเครือญาติ ในค่านิยมพื้นฐานของกลุ่มศาสนิกชนในแต่ละศาสนา ในขบวนการเคลื่อนไหวประเด็นที่ดินทำกินเช่นกลุ่มดิ๊กเกอร์ในอังกฤษและซาปาติสตาในเม็กซิโก ในความเป็นส่วนรวมที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน และในแนวคิดที่แสดงออกมาโดยกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเชิงนิเวศและขบวนการสตรีนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนว่าความคิดแบบอนาธิปไตยจะปรากฏออกมาในชบวนการทางศาสนาทุกศาสนาไม่เว้นแม้แต่อิสลาม เช่นมุสลิมกลุ่มนัจดัท (Najdat, Najadat) เชื่อว่า “อำนาจนั้นเป็นของพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว” พวกเขาจึงรู้สึกว่าตนเองไม่ต้องการอิหม่ามหรือคาลิบคนใด แต่เลือกที่จะจัดการตนเองร่วมกันเพื่อมั่นใจว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นจริง หลายปีก่อนผมเขียนบทความเกี่ยวกับเล่าจื๊อ ผมเสนอว่าตำราเต้าเต๋อจิง (Tao Te Ching) นั้นไม่ควรถูกมองว่าเป็นหนังสือศาสนา (ดังที่มันถูกเข้าใจแบบนั้นเป็นปกติ) แต่เป็นความเรียงทางการเมืองมากกว่า อันที่จริง มันเป็นหนังสืออนาธิปไตยเล่มแรกๆ เลยด้วยซ้ำ ปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในเต้าเต๋อจิงคืออนาธิปไตยโดยฐานราก ดังที่ รูดอล์ฟ ร็อคเกอร์ (Rudolf Rocker) ได้เขียนเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว

ในอีกทางหนึ่ง อนาธิปไตยอาจถูกมองว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ และทฤษฎีทางการเมืองที่มีต้นกำเนิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มันถูกแสดงออกมาในงานเขียนของ วิลเลี่ยม ก็อดวิน (William Godwin) โดยเขาเขียนหนังสืออนาธิปไตยคลาสสิคที่มีชื่อว่า คำถามว่าด้วยความยุติธรรมทางการเมือง (An Enquiry Concerning Political Justice) (1793) เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม sans-culottes และ enragés ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และพวกราดิคัลอย่างเช่น โธมัส สเปนเซอร์ (Thomas Spencer) กับวิลเลี่ยม เบลค (William Blake) ในเกาะอังกฤษ คำว่า “อนาธิปไตย” (anarchist) ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเป็นการอธิบายกลุ่ม sans-culottes ที่แปลตรงตัวว่า ““พวกไม่ใส่กางเกง” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานในฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้เกิดการทำลายรัฐบาลลงไป

ลัทธิอนาธิปไตยในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 ปรัชญาสังคมขั้นพื้นฐานของมันถูกคิดและกำหนดขึ้นโดยนักปฏิวัติชาวรัสเซีย มิคาอิล บาคูนิน (Michael Bakunin) มันเป็นผลมาจากการปะทะกันระหว่างเขากับมาร์กซ์และสหาย ผู้ให้การสนับสนุนรัฐนิยมในการก้าวไปสู่สังคมนิยม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุมของสากลที่ 1 (International Working Men’s Association) ในช่วงทศวรรษ 1860s อนาธิปไตยในรูปแบบคลาสสิคนั้นมีส่วนสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวของชาวสังคมนิยมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวคิดอนาธิปไตยแบบนี้แสดงออกมาผ่านผลงานของนักอนาธิปไตยหลายๆ คนเช่น โครพอทคิน โกลด์แมน รีคลูส์ และมาลาเตสตา (Errico Malatesta) แต่แนวทางสังคมนิยมของมันเป็นไปในแบบอิสรนิยมมากกว่ามาร์กซิสต์ มีความพยายามในการแยกสังคมนิยมกับอนาธิปไตยให้เป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่นงานของ เดวิด เปปเปอร์ (David Pepper 1996) ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในเชิงแนวคิดและประวัติศาสตร์

ในบรรดาปรัชญาการเมืองทั้งมวลนั้น อนาธิปไตยอาจจะเป็นแนวคิดที่ดูแย่ที่สุด มันถูกปฏิเสธ ใส่ร้าย ล้อเลียน สบประมาท เข้าใจผิด และบิดเบือนจากบรรดานักเขียนจากทุกฝากฝั่งการเมือง ทั้งมาร์กซิสต์ เสรีนิยม เดโมแครท และอนุรักษ์นิยม ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) อดีตประธานาธิบดีอเมริกาได้บรรยายถึงลัทธิอนาธิปไตยเอาไว้ว่า “เป็นอาชญากรรมต่อเผ่าพันธุ์มนุษยชาติทั้งมวล” มันถูกตัดสินว่าเป็นแนวคิดที่เป็นไปในทางทำลาย ใช้ความรุนแรง และสุญญนิยม มีคำวิพากษ์วิจารณ์จำนวนหนึ่งที่ต้องการกล่าวหาอนาธิปไตย และผมอยากจะลองอธิบายแก้ต่างให้กับข้อกล่าวหาเหล่านั้น มีทั้งหมด 8 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

  1. มีคำกล่าวหาว่าพวกนักอนาธิปไตยนั้นไร้เดียงสา และโลกสวยเกินไปในการมองธรรมชาติของมนุษย์ เหมือนกับรุสโซที่มีมุมมองแบบโรแมนติกเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์โดยแก่นนั้นเป็นคนดีและรักความสงบ แต่จริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขาทั้งโหดร้าย ก้าวร้าว และเห็นแก่ตัว ดังนั้นอนาธิปัตย์จึงเป็นแค่ฝันเฟื่อง เป็นมุมมองที่ไม่สมจริงเกี่ยวกับยุคทองที่ไม่เคยดำรงอยู่ ดังนั้นการใช้อำนาจบีบบังคับจึงเป็นเรื่องจำเป็นเสมอ ความจริงก็คือ นักอนาธิปไตยไม่เคยคิดแบบรุสโซ คนอย่างบาคูนินก็วิพากษ์วิจารณ์นักปรัชญาการเมืองศตวรรษที่ 18 อย่างแสบสันต์ นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่คิดว่ามนุษย์ก็มีทั้งดีและเลว ถ้าพวกเขาคิดว่ามนุษย์ดีไปเสียทั้งหมด พวกเขาจะมีปัญหากับการถูกปกครองหรือเปล่าล่ะ? นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขามีมุมมองที่เป็นจริงมากกว่าที่จะมองธรรมชาติของมนุษย์แบบโรแมนติก ดังนั้นพวกเขาจึงต่อต้านอำนาจบีบบังคับทุกรูปแบบ นักอนาธิปไตยต่อต้านอำนาจที่ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า puissance ซึ่งแปลออกมาได้ว่า “อำนาจเหนือ” (นักอนาธิปไตยไม่ได้ต่อต้านอำนาจแบบ pouvoir หรืออำนาจในการทำบางสิ่งบางอย่าง) และพวกเขายังเชื่อเหมือนกับ ลอร์ด แอคตัน (Lord Acton) ที่ว่า อำนาจนั้นทุจริต และอำนาจสัมบูรณ์ก็ย่อมเป็นการทุจริตโดยสัมบูรณ์เช่นกัน ดังที่ พอล โกลด์แมน (Paul Goldman) เขียนไว้ว่า “ประเด็นก็คือไม่ว่ามนุษย์จะดีพอสำหรับสังคมใดสังคมหนึ่งหรือไม่ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาสถาบันทางสังคมแบบไหน ที่จะนำไปสู่การขยายศักยภาพในด้านปัญญา ความเมตตาต่อมนุษย์คนอื่น การอยู่ร่วมกันในสังคม และเสรีภาพ”

  2. อนาธิปัตย์ ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับความวุ่นวายและความไร้ระเบียบ มันก็จริงที่ผู้คนก็มักใช้คำนี้เพื่อสื่อความหมายเช่นนั้น แต่อนาธิปัตย์ที่นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่เข้าใจนั้นกลับตรงกันข้ามกับความหมายข้างต้น อนาธิปัตย์คือสภาพสังคมที่มีระเบียบเป็นพื้นฐาน มันไม่ได้หมายถึงความโกลาหลหรือไร้การจัดการ เพราะมันเป็นสังคมที่วางอยู่บนฐานความเป็นอิสระของปัจเจก ที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองหรือการใช้อำนาจเชิงบีบบังคับ ดังที่พรูดองชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพนั้นคือต้นกำเนิดของระเบียบ แต่ขณะเดียวกันเหล่านักอนาธิปไตยก็มิได้ประณามความโกลาหล พวกเขามองว่าความโกลาหลและความไร้ระเบียบโดยเนื้อแท้นั้นมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ดังที่บาคูนินกล่าวว่า การทำลายคือการกระทำที่สร้างสรรค์

  3. อีกสมการหนึ่งก็คือ อนาธิปไตยเท่ากับความรุนแรง พวกเขาบอกว่าอนาธิปไตยเป็นเรื่องของการก่อการร้าย การวางระเบิด และการใช้ความรุนแรง และมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อว่า ตำราอาหารของพวกอนาคิสต์ (The Anarchist Cookbook) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำระเบิดและไดนาไมต์ แต่ก็อย่างที่เบิร์กแมนเคยเขียนเอาไว้ว่า ความพยายามในการใช่ความรุนแรงเพื่อต่อสู้กับการกดปราบหรือเพื่อได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมืองนั้นถูกปฏิบัติเรื่อยมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือศาสนาใดก็เคยใช้ความรุนแรง ทั้งพวกชาตินิยม เสรีนิยม สังคมนิยม สตรีนิยม รีพับลิกัน กษัตริย์นิยม ชาวพุทธ ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ เดโมแครท อนุรักษ์นิยม ฟาสซิสต์ …. และรัฐบาลทุกแห่งก็วางอยู่บนฐานของการใช้ความรุนแรงอีกด้วย แต่นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่นั้นต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้าย อนาธิปไตยมีโยงใยอันแข็งแกร่งกับสันติวิธีอีก แต่พวกเขาไปไกลกว่านั้นอีกก้าว นักอนาธิปไตยตั้งคำถามกับความรุนแรงประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ได้ฉุกคิด และมันเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุด ก็คือความรุนแรงในนามของกฎหมาย นักอนาธิปไตยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ตอลสตอย (Leo Tolstoy) เดอ แคลร์ (De Cleyre) คานธี (Gandhi) ล้วนแต่เป็นนักสันติวิธี

  4. นักอนาธิปไตยถูกกล่าวหาโดยเฉพาะจากพวกมาร์กซิสต์ว่าเป็นคนที่ไม่สนใจทฤษฎี ต่อต้านปัญญาชน หรือเป็นกลุ่มคนที่มักจะทำอะไรโดยที่ไม่ระมัดระวัง แต่ถ้าเราพินิจขบวนการอนาธิปไตยอย่างถี่ถ้วน ก็จะพบว่านักอนาธิปไตยหรือบุคคลที่เข้าใจอนาธิปไตยหลายๆ คนนั้นเป็นผู้ที่ใช้ปัญญาได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ยิ่งไปกวานั้นนักอนาธิปไตยก็ได้เขียนงานที่ทรงอิทธิพลออกมาหลายชิ้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงโครงการทางปรัชญาและแนวคิดทางสังคมของพวกเขา ซึ่งงานเหล่านี้แทบจะไม่มีคำฟุ่มเฟือยและหรือข้ออ้างใดๆ อย่างที่นักวิชาการมาร์กซิสต์ เสรีนิยม และพวกหลังสมัยใหม่เป็น

  5. คำวิจารณ์อีกแบบหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับข้อที่แล้ว คือพวกเขาดูแคลนลัทธิอนาธิปไตยว่าเป็นพวกไม่สนใจการเมือง และไม่ยอมลงมือทำอะไร ดังที่นายโจนาธอน พอร์ริท (Jonathan Porritt) อดีตหัวหน้าพรรคกรีนเคยพูดว่า พวกอนาธิไตยไม่เคยทำอะไรเลยนอกจากสนใจแต่เรื่องของตัวเอง เพียงเพราะว่านักอนาธิปไตยไม่เคยสังกัดพรรคการเมืองใด ทำให้พอร์ริทมองว่าพวกเขาไม่เคยอยู่กับ “โลกแห่งความเป็นจริง” แถลงการณ์ของพรรคกรีนนั้นเต็มไปด้วยหลักการเรื่องสังคมแบบกระจายอำนาจ ความเท่าเทียม ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ การร่วมแรงร่วมใจ และสถาบันที่มีความยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้ถูถยึดมาเป็นแนวคิดของพรรคกรีนทั้งที่นักอนาธิปไตยอย่างโครพอทคินเคยพูดเอาไว้มาเป็นเวลานาน แต่กลายเป็นว่ามุมมองแบบนี้ของพอร์ริทมันก็กลายเป็นแค่เรื่องของการเมืองแบบพรรคไปเสีย ในฐานะที่เขาเป็นคนออกสื่อบ่อยครั้ง พอร์ริทได้สร้างความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เกี่ยวกับอนาธิปไตยและสังคมแบบไม่รวมศูนย์ อนาธิปไตยไม่ใช่การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยังไม่ใช่การถอยห่างออกมาเป็นแค่เพียงปัจเจกที่หมกหมุ่นแต่เรื่องของตัวเองด้วย แต่อนาธิปไตยนั้นเป็นภัยต่อการเมืองแบบสภาหรือพรรคการเมืองต่างหาก เพราะว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงสำหรับอนาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเท่านั้น การเลือกคนเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาทุกๆ 5 ปีจึงเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะเป็นการสร้างความชอบธรรมทางอุดมการณ์ให้กับผู้ถือครองอำนาจในสังคมที่วางอยู่บนฐานของลำดับชั้นและไม่เป็นประชาธิปไตย นักอนาธิปไตยจึงมีหลายแบบ พวกเขาเสนอวิธีต่างๆ ในการตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลงระบบที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เช่นการสร้างคอมมูน การต่อต้านในชีวิตประจำวัน สหการณ์นิยม (syndicalism) ประชาธิปไตยแบบเทศบาล (municipal democracy) การจลาจล (insurrection) การกระทำซึ่งหน้า (direct action) และการให้การศึกษา เหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมนักอนาธิปไตยบางคนถึงทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้และให้การศึกษา ก็คือพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงการจัดตั้งแบบพรรคการเมือง แล้วก็ไม่อยากใช้ความรุนแรงด้วย นักอนาธิปไตยได้วิพากษ์แนวคิดเรื่องพรรคการเมืองแบบผู้นำมาโดยตลอด พวกเขามองว่ามันมีโอกาสที่จะกลายเป็นเผด็จการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และจากสิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติผรั่งเศสและรัสเซีย ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคำเตือนของพวกเขานั้นถูกต้อง

  6. ข้อวิจารณ์ต่ออนาธิปไตยอันแสนสม่ำเสมอจากพวกมาร์กซิสต์ก็คือ มันเป็นยูโทเปียและความโรแมนติก เป็นอุดมการณ์ของชาวนาและนายทุนน้อย (petit-bourgeois) หรือเป็นความเพ้อฝันของคนรุ่นใหม่ๆ การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมของ จอห์น ฮาร์ท (John Hart) ที่ศึกษาลัทธิอนาธิปไตยกับชนชั้นแรงงานชาวเม็กซิโก (1978) และงานของ เจโรเม่ มินท์ซ (Jerome Mintz) ที่ศึกษากลุ่มอนาธิปไตยในเมืองคาซัส บิเอฆาส ประเทศสเปน ก็เพียงพอแล้วที่จะปฏิเสธคำบิดเบือนใส่ร้ายเหล่านั้น ขบวนการอนาธิปไตยไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มชาวนา เพราะมันก่อกำเนิดมาจากคนงานในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ๆ อนาธิปไตยสหการณ์นิยม (anarcho-syndicalism) ได้ถูกพัฒนาขึ้น อีกทั้งอนาธิปไตยก็ไม่ใช่ยูโทเปียหรือแนวคิดของคนยุคใหม่ด้วย เหล่านักอนาธิปไตยทำการสร้างลักษณะการรวมหมู่ที่แท้จริง และวิพากษ์รูปแบบของศาสนามาตลอด ในบรรดานักอนาธิปไตยรุ่นแรกๆ ไม่มีใครเลยที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดจะสามารถเกิดขึ้นผ่านการ “โฆษณาชวนเชื่อด้วยการกระทำ” (propaganda by deed) หรือ “การประท้วงหยุดงานในรูปแบบทั่วไป” ดังที่รีคลูส์และเบิร์กแมนกล่าวไว้ในงานของพวกเขา โดยตระหนักได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา

  7. คำวิจารณ์อนาธิปไตยข้อต่อมาก็คือ อนาธิปไตยมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่คับแคบ คือมองว่ารัฐเป็นต้นกำเนิดของความเลวร้ายทั้งมวล โดยที่ไม่สนใจมิติอื่น เช่นเศรษฐกิจและสังคม นี่เป็นการตีความอนาธิปไตยที่ผิดพลาด ซึ่งมาจากวิธีที่อนาธิปไตยถูกนิยามความหมาย และบางส่วนก็มาจากนักประวัติศาสตร์สายมาร์กซิสต์ที่พยายามกีดกันอนาธิปไตยออกไปจากขบวนการสังคมนิยม แต่ถ้าใครสักคนลองสำรวจงานคลาสสิคของนักอนาธิปไตย อย่างเช่นโครพอทคิน โกลด์แมน มาลาเตสตา และตอลสตอย รวมทั้งคุณลักษณะของขบวนการอนาธิปไตยในสเปน อิตาลี เม็กซิโก และฝรั่งเศส พวกเขาจะเห็นอย่างชัดเจนว่าอนาธิปไตยไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่คับแคบ มันตั้งคำถามอยู่เสมอต่ออำนาจและการกดขี่ทุกรูปแบบ อีกทั้งยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมและศาสนาเช่นเดียวกับที่วิพากษ์รัฐด้วย นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่เป็นสตรีนิยม หลายๆ คนแสดงออกว่าต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และปกป้องเสรีภาพของเหล่าเด็กๆ การวิพากษ์ทุนนิยมทั้งในเชิงวัฒนธรรมและระบบนิเวศนั้นเป็นมิติสำคัญในงานเขียนของเหล่านักอนาธิปไตยมาโดยตลอด นี่คือเหตุผลว่าทำไมงานของตอลสตอย รีคลูส์ และโครพอทคินจึงมีความเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน

  8. คำวิจารณ์ที่มีต่ออนาธิปไตยข้อสุดท้าย ก็คือพวกเขาไม่อยู่กับความเป็นจริง อนาธิปัตย์ไม่มีทางได้ผลหรอก นักสังคมนิยมที่สนับสนุนตลาด เดวิด มิลเลอร์ (David Miller) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของเขา ลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) (1984) ทัศนคติของเขาที่มีต่ออนาธิปไตยเป็นไปในทางที่ว่า ยังไงฉันก็เป็นฝ่ายถูก (heads I win, tails you lose) เขายอมรับว่าชุมชนที่วางอยู่บนหลักการแบบอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์นั้นเคยดำรงอยู่จริง และมีโอกาสที่จะ “ประสบความสำเร็จแบบไม่ได้คาดคิด” แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากมวลชน และเกิดการแทรกแซงจากรัฐด้วยการปราบปราม อนธิปไตยแบบนั้นจึง “ล้มเหลว” เสมอ ในอีกทางหนึ่ง เขาเสนอว่าสังคมไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าปราศจากรัฐรวมศูนย์ ดูเหมือนมิลเลอร์จะหลงลืมไปเสียแล้วว่า “ชุมชนแบบเครือญาติ” นั้นเคยดำรงอยู่และเป็นปฏิปักษ์กับรัฐมาอย่างเนิ่นนาน และเครือข่ายการแลกเปลี่ยนที่ปราศจากการควบคุมของรัฐก็มีมาตลอดในสังคมมนุษย์ แม้แต่ในสังคมหาของป่าล่าสัตว์ก็ตาม รัฐนั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในทางประวัติศาสตร์ และรูปแบบของรัฐชาติก็ดำรงอยู่มาไม่กี่ร้อยปีเท่านั้นเอง ชุมชนของมนุษย์ดำรงอยู่มาได้อย่างยาวนานโดยไม่ต้องมีอำนาจจากศูนย์กลางที่คอยบีบบังคับ เป็นไปได้ไหมที่สังคมที่เต็มไปด้วยเทคโลยีอันซับซ้อนจะดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอำนาจศูนย์กลาง? นี่เป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะปัดตกไป นักอนาธิปไตยหลายคนเชื่อว่าสังคมแบบนั้นมีความเป็นไปได้ ระบบที่ซับซ้อนดำรงอยู่ในธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องมีกลไกใดมาควบคุม อันที่จริงนักทฤษฎีหลายคนเริ่มพิจารณาความคิดเกี่ยวกับสังคมอิสระที่กำลังเป็นไปได้ในยุคคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องบอกก็พอรู้ว่าถ้ามิลเลอร์เอาเกณฑ์ที่เขาตัดสินอนาธิปไตยในแง่ลบ—การแบ่งสรรความยุติธรรม และความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม—มาใช้กับระบบทุนนิยม หรือ “คอมมิวนิสม์” โดยรัฐ เขาก็คงประกาศว่าระบบทั้งสองนี้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและไม่อยู่กับความเป็นจริงเช่นกัน แต่อย่างน้อยมิลเลอร์ก็อยากจะช่วยชีวิตอนาธิปไตยออกมาจากถังขยะของประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยให้เราจำกัดควบคุมอำนาจที่ชั่วร้าย และรักษาความเป็นไปของการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นอิสระ

พวกเราถูกคนอย่างฮาเยค (Friedrich Hayek) แธชเชอร์ (Margaret Thatcher) สตราเธิร์น (Marilyn Strathern) พูดกรอกหูว่า สังคมไม่มีอยู่จริง หรือเป็น “การจัดประเภทที่สับสน” ซึ่งควรจะถูกตัดออกไปจากทฤษฎีต่างๆ ทั้งมวล รากศัพท์ของคำว่าสังคม (society) มาจากภาษาละติน Societas ซึ่งได้มาจาก Socius ที่แปลว่ามิตรสหาย เพื่อน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กิจกรรมที่ทำร่วมกัน นักอนาธิปไตยได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างคำว่าสังคมในความหมายข้างต้น กับรัฐ นักวิชาการชาวยิว มาร์ติน บูเบอร์ (Martin Buber) เรียกความต่างนี้ว่าเป็นหลักการทาง “การเมือง” กับ “ทางสังคม” บูเบอร์เป็นเพื่อนสนิทกับนักอนาธิปไตย กุสตาฟ แลนเดาเออร์ (Gustav Landauer) และสิ่งที่แลนเดาเออร์เสนอไว้ก่อนหน้าฟูโกต์อย่างยาวนานก็คือ รัฐไม่สามารถถูกทำลายลงจากการปฏิวัติ แต่เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์แบบใหม่ ด้วยการสร้างแบบแผนทางสังคมและรูปแบบการจัดการที่ทุกคนมีส่วนร่วม ขอบเขตทางสังคมดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในปัจจุบัน อยู่ใกล้แสนใกล้กับสังคมทุกวันนี้ ดำรงอยู่ไปพร้อมกันกับรัฐ ความเห็นของแลนเดาเออร์ก็เช่นเดียวกับ โคลิน วาร์ด (Colin Ward) สภาวะอนาธิปัตย์ไม่ใช่สิ่งที่มีมานานก่อนที่รัฐจะกำเนิดเพียงเท่านั้น และไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในกลุ่มชนอย่างนาห์โร หรือปิอาโรอา ที่อาศัยอยู่ชายขอบของระบบทุนนิยม แล้วมันก็ไม่ใช้สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แต่อนาธิปัตย์คือรูปแบบของชีวิตทางสังคมที่จัดการตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจใด มันยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ แม้ว่าจะไม่เป็นที่จดจำและถูกฝังกลบอยู่ภายใ้ต้ระบบทุนนิยมและรัฐ มันเป็นเหมือนกับ “เมล็ดที่อยู่ใต้หิมะ” ดังที่วาร์ดกล่าวไว้ (1973) อนาธิปไตยเป็นแนวคิดพื้นๆ “สังคมที่จัดการตนเองโดยปราศจากรัฐบาลนั้นเป็นไปได้ และพึงปราถนา”

อ้างอิง

Barclay, Harold. 1982. People without Government. London: Kahn & Averill.

Bookchin, Murray. 1982. The Ecology of Freedom. Palo Alto: Cheshire Books.

Bookchin, Murray. 1995. Re-enchanting Humanity. London: Cassell.

Bottomore, Tom, ed. 1983. A Dictionary of Marxist Thought. Oxford: Blackwell.

Clastres, Pierre. 1977. Society against the State. Oxford: Blackwell.

Clifford, James, and George E. Marcus, eds. 1986. Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography. Berkeley: University of California Press.

Ellen, Roy F. 1986. “What Black Elk Left Unsaid.” Anthropology Today 216: 8–12.

Gledhill, John. 1994. Power and Its Disguises: Anthropological Perspectives on Politics. Condon: Pluto Press.

Hann, Chris M. 1993. Socialism: Ideals, Ideologies and Local Practice. London: Routledge.

Hart, John M. 1978. Anarchism and the Mexican Working Class, 1860–1931. Austin: University of Texas.

Hindness, Barry, and Paul Q. Hirst. 1975. Pre-Capitalist Modes of Production. London: Routledge & Kegan Paul.

Ingold, Tim. 1986. Evolution and Social Life. Cambridge: Cambridge University Press.

Marshall, Peter. 2010. Demanding the Impossible: A History of Anarchism. Oakland: PM Press.

Miller, David. 1984. Anarchism. London: Dent.

Mintz, Jerome R. 1982. The Anarchists of Casas Viejas. Chicago: University of Chicago Press.

Pepper, David. 1996. Modern Environmentalism. London: Routledge.

Ward, Colin. 1973. Anarchy in Action. London: Allen & Unwin.

Zerzan, John. 1988. Elements of Refusal. Seattle: Left Bank Books.

Zerzan, John. 1994. Future Primitive and Other Essays. Brooklyn: Autonomedia.


ผู้เขียน: Brian Morris นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เขามีความสนใจด้านสังคมโบราณ ศาสนา นิเวศวิทยา และอนาธิปไตยในแง่มุมทางมานุษยวิทยา