Title: นิเวศวิทยาสังคม: มนุษย์นิยมเชิงนิเวศ
Language: Thai
Publication: DinDeng
Date: December 2020
Source: Retrieved on 2021-01-08 from http://www.dindeng.com/social-ecology-chodorkoff
Notes: แปล Peam Pooyongyut
ต้นฉบับ Libcom บทความแปลชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันนิเวศวิทยาสังคม ก่อตั้งโดย Murray Bookchin

คำนำผู้แปล

บทความสั้นๆ ชิ้นนี้ให้ภาพรวมขององค์ความรู้ที่เรียกว่า นิเวศวิทยาสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกธรรมชาติ นิเวศวิทยาสังคมต้องการที่จะเสนอว่า ธรรมชาติกับมนุษย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดจากกันในแบบที่เรามักเข้าใจ ไม่ว่าจะฝ่ายนักอนุรักษ์ที่ต้องการกีดกันมนุษย์ออกจากธรรมชาติ หรือฝ่ายก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทุนนิยมที่จ้องจะล้างผลาญธรรมชาติ และมองธรมชาติในฐานะทรัพยากรที่จะไปหยิบมาใช้อย่างไรก็ได้

นิเวศวิทยาเป็นโครงการทางการเมือง ไม่ใช่แนวคิดที่นึกถึงโลกยูโทเปียโดยไม่คิดจะลงมือทำอะไร กลับกันแล้ว มันเรียกร้องเราในเชิงจริยศาสตร์ ว่ามนุษย์ควรมองและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไร หลักการอะไรในโลกธรรมชาติที่เราควรนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างความสมัครสมานกลมเกลียวระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เพราะมนุษย์เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติและต้องอยู่กับธรรมชาติโดยที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้เลย

นิเวศวิทยาสังคม: มนุษย์นิยมเชิงนิเวศ (Social Ecology: An Ecological Humanism)

นิเวศวิทยาสังคม (Social Ecology) เริ่มต้นด้วยการสำรวจอดีต เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่ามนุษย์นั้นมีการนิยาม รวมไปถึงประกอบสร้างธรรมชาติอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งในการหาคำตอบ แทนที่จะเป็นการคิดในเชิงปรัชญานามธรรมเพียงเท่านั้น ประเด็นหลักในทางความคิดเชิงนิเวศและปรัชญาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ก็คือ เรามีวิธีในการรวบยอดแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติและตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ในธรรมชาติกันอย่างไร ผลสรุปที่เราได้มาจะช่วยทำให้เห็นถึงการตัดสินใจในทางการเมืองและจริยศาสตร์ที่ส่งผลต่อโลกใบนี้ของเรา

เราสามารถไปถึงความรู้เช่นนั้นได้อย่างไร? ก่อนอื่นเราต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าธรรมชาตินั้นไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว แต่มีวิวัฒนาการอยู่เสมอ อันที่จริงแล้ววิวัฒนาการทางชีววิทยาแทบทั้งหมดนั้นล้วนเกิดขึ้นในโลกธรรมชาติ สิ่งบันทึกทางวิวัฒนาการคือความจริงของธรรมชาติ นับตั้งแต่ระดับโมเลกุลไปจนถึงระดับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้น ล้วนแต่อยู่ในกระบวนการไหลเวียนและการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย การกลายพันธุ์ หรือแม้แต่การสูญพันธ์ุ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ก่อให้เกิดสายใยแห่งชีวิตอันซับซ้อน ซึ่งมนุษยชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของมันเช่นกัน ถ้าพูดด้วยศัพท์ทางชีววิทยาก็หมายความว่า ธรรมชาตินั้นทั้งเป็นและกลายเป็น วิวัฒนาการคือธรรมชาติ

ธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง กับมนุษยชาติ

มนุษยชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของแม่แบบวิวัฒนาการที่มีบทบาทเฉพาะตัว ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่กระทำต่อโลกธรรมชาตินั้นมีทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายล้าง ในฐานะสปีชีส์หนึ่ง ศักยภาพของในการทำสิ่งต่างๆ ของมนุษย์นั้นย่อมส่งผลต่อสปีชีส์อื่น ระบบนิเวศ รวมทั้งโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง นั่นทำให้นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เราในฐานะมนุษย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นผลผลิตจากพลังแห่งวิวัฒนาการที่สรรสร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ แต่ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มีความแตกต่างออกไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น อันเป็นผลมาจากความสามารถของเราในการสร้างผลกระทบต่อโลกธรรมชาติ นิเวศวิทยาสังคมระลึกถึงข้อเท็จจริงนี้ได้ขึ้นใจ เราจึงต้องทำการแยกโลกธรรมชาติออกเป็นสองลำดับ ก็คือ “ธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง” (fisrt nature) หมายถึงธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ และ “ธรรมชาติลำดับที่สอง” (second nature) หมายถึงธรรมชาติที่ถูกกำหนดกะเกณฑ์โดยจิตสำนึกและการกระทำของมนุษย์

วิถีทางหลักในธรรมชาติลำดับที่หนึ่งก็คือการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธ์ุของสปีชีส์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เผ่าพันธุ์หนึ่งๆ สามารถมีชีวิตรอดและขยายเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง วิวัฒนาการทางธรรมชาติอาจถูกทดแทนด้วยวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม (แต่ได้หมายความว่ามันถูกแทนที่โดยสมบูรณ์) ลักษณะสำคัญของธรรมชาติลำดับที่สองก็คือการเกิดขึ้นของจิตสำนึกในตนเอง และการเกิดขึ้นของวัฒนธรรม มนุษย์ก่อร่างสร้างตัวเองอย่างสม่ำเสมอผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ
(เทคโนโลยี) มีการก่อตั้งสถาบันทางสังคม มีการให้คำอธิบายโลกธรรมชาติ (ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์) และให้กำเนิดศิลปะ เมื่อมนุษย์เริ่มมีความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจโลกธรรมชาติ ฟิสิกส์ พันธุกรรม และประเด็นอื่นๆ ในทางวิทยาศาสตร์ สุดท้ายแล้วเผ่าพันธุ์ของเราก็จะเป็นดั่งคำพูดของ ก็อทลิบ ฟิกช์เท (Gottlieb Fichte) ที่ว่า “มนุษย์กลายเป็นธรรมชาติที่มีจิตสำนึกของตัวเอง” หรือพูดอีกอย่างคือ เป็นธรรมชาติที่มีความสามารถในการสร้างวิถีวิวัฒนาการของตัวเอง มนุษย์เริ่มปรับธรรมชาติให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และในระยะเวลาอันรวดเร็ว วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่มีพลวัตในการปรับสภาวะแวดล้อมให้เข้ากับมนุษย์ภายในระยะเวลาไม่ถึงชั่วคน

ถ้าเราเข้าใจลักษณะที่แท้จริงของธรรมชาติลำดับที่สองที่ถูกผลิตขึ้นจากความสร้างสรรค์และกลวิธีต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีความแตกต่างจากธรรมชาติลำดับที่หนึ่งอย่างเห็นได้ชัด เราก็จะเข้าใจด้วยว่ามันงอกเงยมาจากธรรมชาติลำดับที่หนึ่งโดยตรง หรือพูดอีกอย่างคือ มันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางชีววิทยา นอกจากนี้ถ้าพูดในเชิงตรรกะแล้ว ธรรมชาติลำดับที่หนึ่งนั้นแฝงฝังไปด้วยศักยภาพที่จะให้กำเนิดธรรมชาติลำดับที่สอง เราควรทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ธรรมชาติและบันทึกทางวิวัฒนาการในแง่ที่ว่า แท้จริงแล้วการวิวัฒน์ของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ทำให้โลกธรรมชาติสูญเสียแก่นแกนของมันไป ธรรมชาติลำดับที่สองยังคงบรรจุลักษณะของธรรมชาติลำดับที่หนึ่งเอาไว้เสมอ รูปแบบที่ซับซ้อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ล้วนเริ่มต้นมาจากการพัฒนาของเซลล์เซลล์เดียวที่จัดเรียงและรวมตัวกันในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น (กลายเป็นอวัยวะ) และเซลล์เหล่านั้นก็ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างซับซ้อน (กลายเป็นองค์อินทรีย์) ค่า pH ของน้ำคร่ำในช่องคลอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเช่นมนุษย์ ก็มีองค์ประกอบมาจากค่า pH ของมหาสมุทรยุคโบราณซึ่งเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในแง่นี้ การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ การให้กำเนิด ก็ล้วนแต่เป็นการลอกเลียนแบบวิวัฒนาการทางชีววิทยาทั้งสิ้น สปีชีส์ของเรารวมเอาธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและที่สองเข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อเราดูบันทึกวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่ดำเนินมาตลอดหลายล้านปี เราก็จะเห็นว่ารูปแบบของสิ่งมีชีวิตต่างๆ นั้นเพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ และมองเห็นว่าชีวิตเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะตระหนักรู้ในตนเอง เราไม่ได้หมายถึงว่าวิวัฒนาการนั้นเดินเป็นเส้นตรงอย่างต่อเนื่อง ที่จริงแล้ววิวัฒนาการนั้นล้วนมีจุดเริ่มต้น จุดเฟื่องฟู จุดเสื่อมถอย หรือแม้กระทั่งจุดที่สิ่งมีชีวิตนั้นๆ สูญพันธุ์ไปสิ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ได้วิวัฒนาการมาจากสิ่งที่ไม่มีสำนึกในตนเอง เช่นสัตว์เซลล์เดียว ไปสู่รูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบทางชีววิทยาอันแสนซับซ้อนที่มีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมและเหตุผล แล้วสิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์กลายเป็น “เจ้าผู้สร้าง” ที่มีสิทธิ์ในการปกครองสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ และมองธรรมชาติเป็นเพียงแค่ทรัพยากรที่จะนำมาใช้สอยอย่างนั้นหรือ? หรือเราต้องเข้าใจเสียก่อนว่ามนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่มีความสามารถในการทำลายล้างและสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน? ความเข้าใจเหล่านี้ไม่ได้นำมาซึ่งความรับผิดชอบในการวิพากษ์เพื่อทบทวนการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งกับลำดับที่สอง ที่ถูกแผ้วทางจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนิเวศวิทยาหรอกหรือ? แล้วเราไม่ควรสร้างจริยศาสตร์และการเมืองที่จะนำมาซึ่งหลักประกันที่จะนำมาซึ่งความกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งกับลำดับที่สอง ที่กำลังถูกคุกคามจากจริยศาสตร์และการเมืองในปัจจุบันของเราในตอนนี้หรอกหรือ?

นิเวศวิทยาสังคมนั้นชี้แนะว่าเราต้องหวนกลับไปพินิจธรรมชาติลำดับที่หนึ่งกันเสียใหม่ เพื่อทำความเข้าใจถึงหลักการต่างๆ ของประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และเป็นหลักประกันว่าระบบนิเวศนั้นจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อม การตรวจสอบดังกล่าวนั้นต้องวางอยู่บนฐานของความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ แต่เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าโครงการดังกล่าวนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์เพียงอย่างเดียว ประวัติศาสตร์ของการตีความ “กฎของธรรมชาติ” นั้นเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่เป็นอัตวิสัยและความเป็นการเมือง ในศตวรรษที่ 19 นักสังคมศาสตร์สายดาร์วินอย่างเช่น เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) ได้พลิกแพลงเอาความคิดของดาร์วินมาเป็นหลักเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษ หรือมาดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นาน ฮิตเลอร์สร้างความชอบธรรมให้กับมุมมองของเขาด้วยการยกเอาแนวคิดเรื่อง “ธรรมชาติที่เที่ยงแท้” ขึ้นมา แต่นิเวศวิทยาสังคมไม่ทำเช่นนั้น เพราะเราไม่ต้องการที่จะบอกว่าธรรมชาติคือสิ่งเที่ยงแท้หรือมีอำนาจสัมบูรณ์ สิ่งที่เราทำก็คือพยายามที่จะใช้หลักวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เรามี เพื่อพิจารณาแนวโน้มหรือหลักการของกระบวนการวิวัฒนาการ พลวัตของระบบนิเวศ และทำความเข้าใจว่าแนวโน้มเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่ไม่ละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่มาจากธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง เหมือนกับว่านิเวศวิทยาสังคมนั้นต้องการทำให้ธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและสองกลับมาปรองดองกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในภาวะที่ดาวโลกกำลังถูกคุกคาม เรายังต้องจดจำไว้อีกด้วยว่า เนื่องจากทฤษฎีใดๆ ก็ตามล้วนมีฐานมาจากวิทยาศาสตร์ ดังนั้นนิเวศวิทยาสังคมก็จำเป็นที่จะต้องถูกปรับปรุงจากความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เช่นเดียวกัน

จริยศาสตร์และสังคมในเชิงนิเวศ

จริยศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูความปรองดองระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและที่สองนั้นต้องเริ่มต้นด้วยการเพิ่มพูนความซับซ้อน ความหลากหลาย และระดับของจิตสำนึกให้สูงขึ้น การเริ่มต้นดังกล่าวต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งสองลำดับเสียก่อน เราต้องมุ่งมานะที่จะปกป้องและสรรสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนความหลากหลายทางชีววิทยา ที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน

หลักการเดียวกันนี้จะต้องปรับใช้กับธรรมชาติลำดับที่สอง ถ้าเป้าหมายของเราคือสังคมเชิงนิเวศ จริยศาสตร์ของเราก็จะต้องรับประกันได้ว่าสังคมของเราจะให้ความสำคัญกับความซับซ้อนหลากหลาย ที่มุ่งไปสู่การเพิ่มระดับทางจิตสำนึกในตนเอง ซึ่งแสดงออกมาผ่านความเคารพซึ่งกันและกัน ความมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม และความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ การไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งระดับของความซับซ้อน ความหลากหลาย และอิสรภาพที่สูงขึ้นนั้นคือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับระบบนิเวศและสังคมที่สมบูรณ์พูนสุข และเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความปรองดองของธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและที่สอง

หลักการของความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเท่าเทียมคือหลักการที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง เราควรจะปรับใช้หลักการดังกล่าวกับสังคมของเราเพื่อที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งสุขภาวะ ความมั่นคง และความแข็งแรงของระบบนิเวศนั้นวางอยู่บนความสัมพันธ์ทางตรงกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับระบบ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพถึงจุดสูงสุด อย่างเช่น ป่าดิบชื้น หรือปากแม่น้ำนั้นมีความสามารถที่จะรักษาความหลากหลายดังกล่าวไว้ได้นานนับหลายพันปี ยิ่งมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด มันก็ยิ่งทำให้เกิดการเพิ่มระดับของความหลากหลายทางโภชนาการตามไปด้วย และทำให้ระบบสามารสร้างการทดแทนและค้ำชูตัวมันเองได้

การปรับใช้หลักการดังกล่าวก็คือความเร่งด่วนเชิงจริยศาสตร์ของธรรมชาติลำดับที่สอง การขาดหายไปของความเป็นหนึ่งเดียวกับและความไม่อดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายนั้นกลายเป็นภัยคุกคาม ที่ไม่ใช่สำหรับแค่วัฒนธรรมหรือสังคมหนึ่งๆ เท่านั้น แต่มันกระทบกับโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ผลลัพธ์ของการไม่ยอมรับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับธรรมชาติลำดับที่สองก็คือ มันจะนำไปสู่ภัยพิบัติทางสังคมและระบบนิเวศ เช่นสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการเหยียดเชื้อชาติ รวมไปถึงการลดทอนและทำให้ระบบนิเวศพังทลายลง ซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ธรรมชาติทั้งสองประเภทนั้นมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก นิเวศวิทยาสังคมนั้นให้ความสำคัญกับหลักการความเป็นหนึ่งเดียวกันในความหลากหลาย ในฐานะหนทางที่จะใช้แก้ไขการพังทลายที่ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว

ลำดับชั้นและวิวัฒนาการ

ในตอนที่วิทยาศาสตร์ได้เริ่มต้นทำการศึกษาระบบนิเวศ มันมีแนวโน้มว่าจะมองความสัมพันธ์แบบสมมาตรในลักษณะลำดับชั้น แนวคิดหลักของการทำความเข้าใจระบบนิเวศนั้นได้แก่ห่วงโซ่อาหาร มันเป็นลำดับชั้นของการพึ่งพากันที่เข้มงวดอย่างยิ่ง โดยมีสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่อยู่ที่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่ เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเรานั้นมีมากขึ้น โมเดลห่วงโซ่แบบเดิมที่ยังถูกศึกษาไม่ละเอียดมากนักก็ถูกแทนที่ด้วยการอธิบายที่ลึกซึ้งกว่า โดยการนิยามความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศว่าเป็นเครือข่ายสายใยอาหาร (food web) สายใยทางอาหารนี้เป็นลักษณะที่ปราศจากลำดับชั้นของความสัมพันธ์ต่างๆ โดยมีฐานมาจากการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงทุกสปีชีส์เอาไว้ด้วยกันในฐานะองค์รวมของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน สิ่งนี้ทำให้เราย้อนกลับไปมองว่าธรรมชาติลำดับที่หนึ่งนั้นก็มีลักษณะความสัมพันธ์แบบปราศจากลำดับชั้นเช่นกัน

ลำดับชั้นระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เราคิดขึ้นมาว่ามันจะต้องดำรงอยู่ในธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง อย่างเช่น สิงโตเป็น “เจ้าแห่งสัตว์ป่า” หรือ “มดอยู่ลำดับล่างของห่วงโซ่” สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมุมมองลำดับชั้นแบบมนุษย์ทั้งสิ้น ในทางเทคนิค ลำดับชั้นหมายถึงระบบของคำสั่งและการควบคุมเพื่อทำให้เกิดการบังคับในทางกายภาพซึ่งก่อให้เกิดการเชื่อฟังคำสั่งนั้นๆ แต่อันที่จริงแล้ว ระบบดังกล่าวไม่เคยดำรงอยู่ในธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง สิงโตไม่ได้ออกคำสั่งหรือควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แถมมันก็ไม่ได้สร้างระบบระเบียบเชิงสถาบันในความสัมพันธ์ของมันด้วย แม้แต่ลักษณะที่เหนือกว่าของสิงโตตัวเมียก็ถูกมองว่าเป็นความเหนือกว่าในบางสถานการณ์เท่านั้น มันไม่ได้ถูกสถาปนาว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป

ลำดับชั้นได้ทำลายสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ วัฏจักรแห่งการเกิด การตาย การย่อยสลาย ได้เชื่อมต่อธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและลำดับที่สองเข้าไว้ด้วยกัน ต่อให้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการแข่งขันระหว่างสปีชีส์ในกระบวนการวิวัฒนาการ แต่พลวัตของระบบนิเวศนั้นมีรากฐานมาจากการร่วมมือกัน สปีชีส์แต่ละสปีชีส์ล้วนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการพัฒนา สิ่งนี้เป็นจริงแม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับผู้ล่าที่สายพันธ์ุทั้งหลายต่างพึ่งพาอาศัยกัน ลองพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ล่าย่อมพึ่งพาเหยื่อในการเอาชีวิตรอด ส่วนเหยื่อก็พึ่งพาผู้ล่าในการรักษาจำนวนประชากรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลักษณะของการพึ่งพากันเช่นนี้เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ

เหนือสิ่งอื่นใดนั้น วิวัฒนาการคือเขตแดนของศักยภาพ ทุกๆ รูปแบบของชีวิตล้วนประกอบไปด้วยชุดของความน่าจะเป็นทั้งในเชิงชีววิทยาและเชิงพฤติกรรม ศักยภาพเหล่านี้และความพยายามทำให้มันเป็นจริงนั้นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า และเมื่อกระบวนการนี้ไปถึงระดับที่มีจิตสำนึกรับรู้ (ว่าตนเองมีศักยภาพ) มันก็ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญของโลกธรรมชาติ และอีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและลำดับที่สอง แม้ว่าธรรมชาติลำดับที่หนึ่งจะปรากฏอยู่ในธรรมชาติลำดับที่สองเสมอ แต่เราก็จะเห็นถึงการเกิดขึ้นของจิตสำนึก จิตสำนึกในตนเอง และความพยายามของมนุษย์ในการเติมเต็มศักยภาพที่พวกเขามี ซึ่งเป็นลักษณะของการที่วัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้น ถ้าภาวะพึ่งพานั้นถูกมองว่าเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์สร้างจริยศาสตร์ขึ้นมาได้ มันก็ต้องมีรากฐานมาจากความเข้าใจศักยภาพดังกล่าว มันต้องเป็นส่วนหนึ่งของความต่อเนื่องของพฤติกรรมที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ศักยภาพนี้ก่อให้เกิดการแสดงออกในหลายรูปแบบ ผ่านประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งทำให้เห็นว่านี่คือหลักฐานว่าเราควรผสมผสานหลักการเข้ากับกรอบคิดเชิงจริยศาสตร์ ที่จะทำให้เราสามารถฟื้นฟูความกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและสองได้

ความคิดกระแสหลักที่มองว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งเที่ยงแท้นั้นวางอยู่บนฐานของความโลภ การแข่งขัน สงคราม และการใช้อำนาจ สิ่งเหล่านี้ถูกท้าทายจากบันทึกทางมานุษยวิทยา อันที่จริงแล้ว มานุษยวิทยานั้นบอกให้เราปฏิเสธความคิดอันคับแคบเกี่ยวกับ “ธรรมชาติของมนุษย์” และแทนที่มันด้วยแนวคิดที่เปิดกว้างเกี่ยวกับความต่อเนื่องของพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพ ซึ่งไม่ใช่ศักยภาพที่เป็นเรื่องของความโลภ การแข่งขัน สงคราม และการใช้อำนาจ แต่มันพูดถึงศักยภาพในการดูแลผู้อื่น การแบ่งปัน การพึ่งพาอาศัยกันและกัน และความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นลำดับชั้น กรอบคิดนี้นำมาซึ่งความเชื่อว่าเราในฐานะมนุษย์นั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างสังคมเชิงนิเวศ นักมานุษยวิทยาได้นิยามพฤติกรรมเชิงนิเวศเหล่านี้ว่าเป็นใจกลางของสังคมมนุษย์ โดยมีต้นกำเนิดมาจากสังคมที่มีระบบการผลิตก่อนทุนนิยม ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในอนาคต ผมไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ควรจะกลับไปสู่การหาของป่าล่าสัตว์ ซึ่งเราย้อนกลับไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ผมจะบอกว่า รูปแบบทางพฤติกรรมเหล่านี้มันทำให้เราเห็นถึงหลักการพื้นฐานบางอย่าง และเราในฐานะมนุษย์ผู้มีความสร้างสรรค์ก็สามารถนำเอาหลักการเหล่านั้นมาปรับใช้ในชีวิตปัจจุบันได้

วัฒนธรรมและสังคมต่างๆ นั้นมักจะให้ความสำคัญกับรูปแบบพฤติกรรมหนึ่งๆ และลดคุณค่าพฤติกรรมอื่นๆ อยู่เสมอ จากกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการศึกษาในระบบทำให้สังคมของเรานั้นสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” ไปเสีย ความตระหนักรู้ถึงศักยภาพอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์นั้นช่วยมอบความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่มีวิธีการที่ชัดเจน แต่ความรู้ทางชีววิทยาสังคมได้เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเกิดขึ้นถ้าเราไปถึงจุดที่ศักยภาพของเรากลายเป็น “ธรรมชาติที่มีจิตสำนึกในตนเอง” ทำให้เกิดความกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติลำดับที่หนึ่งและลำดับที่สอง และแก้ไขวิกฤตทางธรรมชาติที่กำลังคุกคามการดำรงอยู่ของพวกเรา

จากนิเวศวิทยาสู่การเมือง

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นต้องการวิสัยทัศน์ที่ราดิคัล เราต้องการญาณวิทยาของระบบนิเวศแบบใหม่ เราต้องการจริยศาสตร์ที่มีต้นแบบมาจากธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง และเราต้องการการปฏิบัติเชิงทฤษฎีในทางการเมืองและสังคม เราต้องมุ่งมั่นที่จะค้นหาและตรวจสอบต้นตอของวิกฤตทางธรรมชาติ โดยการใช้หลักการทางจริยศาสตร์ที่เราได้รับมาจากความเข้าใจในตัวธรรมชาติ การตรวจสอบดังกล่าวจะนำเราออกจากเขตแดนของนิเวศวิทยาแบบเดิมๆ ที่ยังคงมอง “ธรรมชาติ” ว่าเป็นเพียงทรัพยากร ไปสู่นิเวศวิทยาสังคมที่ให้ความสำคัญกับความกลมเกลียวของธรรมชาติทั้งสองลำดับ

จริงๆ แล้ว แนวคิดดังกล่าวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่มากไปกว่าวิธีแบบผักชีโรยหน้าที่นักสิ่งแวดล้อมส่วนมากทำกัน มันเรียกร้องให้เราแก้ไขปัญหาสังคมที่ซ่อนอยู่และเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย มันเสนอว่าระบบนิเวศที่มีสุขภาวะที่ดี และความสัมพันธ์อันกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติทั้งสองลำดับนั้นเป็นผลมาจากการสร้างสังคมเชิงนิเวศขึ้นมา และสังคมเชิงนิเวศจะต้องมีหลักทางจริยศาสตร์รองรับ ซึ่งได้มาจากการทำความเข้าใจธรรมชาติลำดับที่หนึ่ง

วิกฤตทางธรรมชาตินั้นเรียกร้องสิ่งที่มากกว่าความเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึก แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันยังไม่เพียงพอ เราต้องเริ่มต้นด้วยการกระทำที่เป็นผลมาจากจิตสำนึกแบบนิเวศวิทยาสังคม แน่นอนว่ากระบวนการประกอบสร้างเชิงนิเวศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันต้องการการยกระดับทางความคิดและการจัดการทางสังคมอย่างใหญ่หลวง เราต้องเริ่มต้นกระบวนการการประกอบสร้างระบบนิเวศด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศในปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นเอกภาพ และมองว่ามันเป็นแหล่งที่กักเก็บความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเราต้องเข้าไปฟื้นฟูระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมให้กลับไปยังสภาวะก่อนหน้านี้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องสำรวจและนำเอารูปแบบการพัฒนาเชิงนิเวศมาปรับใช้ รวมไปถึงกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับชุมชน ที่ทำให้ความต้องการของมนุษย์นั้นสมดุลกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ เราต้องแสดงให้เห็นถึงมิติต่างๆ ของการสร้างสรรค์โลกขึ้นมาใหม่ด้วยการปรับใช้หลักจริยศาสตร์ในธรรมชาติ

โครงการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสาขาวิชานิเวศวิทยาสังคม การคิดในเชิงปรัชญานั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม การกระทำของเราต้องมีรากฐานมาจากจริยศาสตร์และความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ การไม่ครุ่นคิดพิจารณาและการกระทำที่ไม่รอบคอบอาจจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง แทนที่จะทำให้มันดีขึ้น ผลลัพธ์ที่เราต้องการก็คือการก้าวไปสู่ความซับซ้อน ความหลากหลาย และอิสรภาพที่มากขึ้นกว่าเดิม เราต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นผ่านความหลากหลายและลักษณะกลุ่มก้อนที่พึ่งพาอาศัยกัน และความตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ของตัวเรากับธรรมชาติลำดับที่หนึ่งนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและหลักการดังกล่าว วิธีการกับผลลัพธ์ต้องสอดคล้องกันเสมอ

ปฏิบัติการในทางนิเวศวิทยาสังคมนั้นต้องอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วมของคนหลากหลายกลุ่มและแนวคิดแบบประชาธิปไตย ผู้คนจากทั่วโลกและชุมชนระดับท้องถิ่นกำลังท้าทายวัฒนธรรมการทำลายล้างแบบไร้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการดิ้นรนต่อสู้ของชนพื้นเมืองในเม็กซิโกเพื่อปกป้องผืนป่าของพวกเขา ชาวนาเนปาลต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการสร้งเขื่อนกั้นแม่น้ำ และชุมชนคนผิวดำยากจนในลุยเซียนาก็ต่อสู้เพื่อที่โรงงานปล่อยสารเคมีเป็นพิษถูกปิดตัวลง ขบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลก เช่นเดียวกับเหล่าผู้อยู่อาศัยในเมือง
เดสทรอยอันเสื่อมโทรมกำลังเรียกร้องเอาตึกที่ถูกทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง และกลุ่มเยาวชนที่ใช้พื้นที่ว่างในเมืองนิวยอร์กเป็นที่ปลูกผักออแกร์นิก พวกเขายืนหยัดอยู่เคียงข้างเหล่าผู้ต่อต้านระบอบเศรษฐกิจโลกอันแสนหน้าเลือด ซึ่งถูกครอบงำโดยเหล่าบรรษัทขนาดยักษ์

การผสมผสานของการประท้วงต่อต้านเข้ากับปฏิบัติการฟื้นฟูเป็แค่เพียงก้าวแรกเท่านั้น เราจะต้องขยายการต่อสู้ของเราให้มีคนจากหลากหลายกลุ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งองค์กรที่นำเอาหลักจริยธรรมเชิงนิเวศมาปรับใช้ เพื่อเป็นการสร้างความกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติทั้งสองลำดับ เป็นขบวนการที่มีความหลากหลาย ไม่รวมศูนย์ ไม่มีลำดับชั้น และเน้นการมีส่วนร่วม เสนอให้เห็นโมเดลแบบใหม่ของปฏิบัติการทางสังคมที่เป็นการโต้ตอบกับแนวทางแห่งการทำลายล้างที่ถูกสร้างขึ้นจากวัฒนธรรมหลักที่ครอบงำเราอยู่ในทุกวันนี้

ก้าวไปสู่การตื่นรู้ครั้งใหม่

มุมมองแบบนิเวศวิทยาสังคมนั้นจำต้องพูดถึงอนาคตข้างหน้าด้วย และต้องทำในท่าทีของการนำเอาหลักการทางจริยศาสตร์ในธรรมชาติลำดับที่หนึ่งมาปรับใช้ การคาดการณ์โดยใช้เพียงแค่ความเป็นปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านวิธีคิดของพวกฟูทูริสต์ (futurists) และพวกนักทฤษฎีระบบ (system theorists) การพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตในแง่ของนิเวศวิทยานั้น จะต้องมีรากฐานอยู่ที่แนวคิดเรื่องศักยภาพ หรือความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ จะกลายเป็นอะไรได้บ้าง การวิวัฒนาการในตัวของมันเองก็คือกระบวนการเผยออกมาของศักยภาพในระดับชีววิทยา เป็นองค์อินทรีย์ที่อาจเติมเต็มศักยภาพในการเติบโต พัฒนา และขยายเผ่าพันธ์ุ หรือบางทีก็ประสบความล้มเหลว ศักยภาพไม่ควรจะเท่ากับการไม่มีทางเลือก มีตัวแปรมากมายที่จะทำให้ศัยกภาพเหล่านั้นปรากฏหรือไม่ปรากฏ นิเวศวิทยาตรวจสอบอนาคตด้วยการพยายามที่จะนำเอาศัยภาพต่างๆ ในการฟื้นฟูและสร้างความกลมเกลียวระหว่างธรรมชาติทั้งสองลำดับออกมา ขณะเดียวกันก็ทำให้ศัยภาพเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาด้วย

การจะทำเช่นนั้นได้ นิเวศวิทยาสังคมได้หยิบยืมเอาธรรมเนียมอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ นั้นคือการคิดถึงโลกยูโทเปีย แต่เป็นยูโทเปียที่วางอยู่บนความเข้าใจศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าศักยภาพบางอย่างยังไม่เป็นที่รับรู้ก็ตาม ในช่วงยุคเรอเนสซองส์และยุคภูมิธรรม (Enlightenment) วิธีคิดแบบยูโทเปียถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะรูปแบบทางความคิดที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์สังคม และการมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างองค์กรทางสังคมขึ้นมา มันเคยถูกใช้เพื่อสำรวจหาหนทางที่มนุษย์จะก้าวเดินต่อไป เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดทางสังคม แต่การคิดแบบยูโทเปียนั้นเสนออะไรไปมากกว่าแรงบันดาลใจ เพราะมันยังเสนอการเริ่มต้นสิ่งใหม่ให้กับเรา ถ้าเราไม่มีภาพของสังคมที่เราพึงปรารถนาแล้วล่ะก็ เราก็จะไม่สามารถไปถึงมันได้เลย ในบริบทเชิงนิเวศสมัยใหม่ รายละเอียดของหลักการยูโทเปียนั้นวางอยู่บนฐานของความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อระบบนิเวศ และจะถูกนำมาปรับใช้ผ่านแผนการพัฒนาแบบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เรามีศักยภาพพอในการกำจัดความขาดแคลน สังคมของเรามีเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน ทั้งด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และพลังงาน สิ่งที่เราขาดหายไปก็คือวิสัยทัศน์ทางสังคมและความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทำเช่นนั้น การรวมศูนย์ความมั่งคั่งแบบลำดับชั้นนั้นนำไปสู่ความไม่สมดุลอันน่าหวั่นของการกระจายทรัพยากรไปทั่วโลกใบนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นขยายกว้างขึ้นอย่างสม่ำเสมอในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่ยุคภูมิธรรมนั้นนำไปสู่การประกอบสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ ด้วยการสั่นคลอนระเบียบอำนาจเดิม ยุคภูมิธรรมแห่งการตื่นรู้ครั้งใหม่ที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศนี้ก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน ผมตระหนักดีว่ายุคภูมิธรรมนั้นยังมีข้อจำกัดและข้อบกพร่องอยู่ด้วย และผมไม่ได้เสนอว่าเราต้องผลิตซ้ำสิ่งเดิม แต่เป็นการเรียนรู้กระบวนการของมันเพื่อที่เราจะได้แก้ไขให้ดีขึ้น

โครงการแห่งการตื่นรู้เริ่มต้นด้วยชุดความคิดที่วิพากษ์สิ่งเดิมแบบราดิคัล และเสนอมุมมองที่เหนือไปกว่าภาวะปัจจุบัน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง และเราควรทำอะไร ถ้าเราตระหนักรู้ถึงสังคมเชิงนิเวศและศักยภาพของมัน เราก็จะต้องเริ่มต้นเสียตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าเราล้มเหลวกับโครงการดังกล่าว นั่นหมายความว่าเรากำลังทอดทิ้งมนุษยชาติ และเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการทำลายล้างระบบนิเวศอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน