Gabriel Ernst & Pathompong Kwangtong
นิเวศวิทยาสังคม (Social Ecology) กับเมอร์เรย์ บุคชิน (Murray Bookchin)
เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจนิเวศวิทยาสังคม ซึ่งเป็นระบบที่มุ่งเปลี่ยนมุมมองของเราอย่างถึงรากถึงโคน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติ ลำดับชั้น (hierarchy) และการครอบงำ (dominance) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายของระบบนิเวศน์
เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยาระดับโลก มหาสมุทร ผืนป่า ไร่นา แม้กระทั่งเมืองของเรากำลังถูกล้างบาง และทรัพยากรทางธรรมชาติของเราก็ใกล้หมดลงเต็มที ป่าถูกแทนที่ด้วยเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ ผืนดินถูกฉาบทับด้วยคอนกรีต นี่คือโลกที่เราสร้างขึ้น แทนที่จะเป็นโลกแห่งการแบ่งปันร่วมกัน ด้วยสมองและสองมือเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์ ความคิดชาตินิยมกลับแยกเราออกเป็นชาติต่างๆ ทำให้เราเย็นชาและเฉยเมยต่อความทุกข์ของผู้อื่น กระทั่งลงเอยไปสู่การทำลายโลกของเราเอง
สังคมนิเวศวิทยาคือเครื่องมือที่จะทำให้เราเข้าใจ และแก้ปัญหาที่ท้าทายอย่างการล่มสลายของระบบนิเวศน์ อันใกล้จะมาถึงเราในไม่ช้านี้ เมอร์เรย์ บุคชิน ผู้ก่อตั้งแนวคิดนิเวศวิทยาสังคมเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “การครอบงำของมนุษย์ต่อธรรมชาติ มีที่มาจากการครอบงำของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง” ดังนั้นแล้ว ความป่วยไข้ของระบบนิเวศน์และสังคม มีรากฐานมาจากความเคยชินต่อระบบลำดับชั้นและการครอบงำของเราเอง นี่คือสิ่งที่สังคมนิเวศวิทยาพูดถึง ในทำนองเดียวกับที่มาร์กซ์ใช้วัตถุนิยมวิภาษวิธีเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ สังคมนิเวศวิทยาใช้ลัทธิมาร์กซ์มาต่อยอดความคิดที่กล่าวไปข้างต้น เพียงแต่มุ่งอธิบายประเด็นทางนิเวศวิทยาแทน นี่คือเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ว่ามนุษยชาติได้มาถึงวิกฤติการณ์ทางระบบนิเวศน์ในปัจจุบันได้อย่างไร ผ่านการทำความเข้าใจทั้งวิวัฒนาการทางสิ่งแวดล้อม วัตถุ และสังคม โดยเฉพาะการแทรกแซงธรรมชาติของมนุษย์
เมอร์เรย์ บุคชิน นักทฤษฎีสังคมนิเวศวิทยาคนสำคัญ เกิดในนิวยอร์กเมื่อปี 1921 ครอบครัวเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเขาเองได้ใช้เวลาวัยเด็กในการเป็นอาสาสมัครให้กับพรรคมากมาย เขาทำกิจกรรมใช้แรงงานขณะที่เขาโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เขียนงาน จัดตั้ง และสร้างกรอบทฤษฎี หลังจากนั้นเขาก็ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ และใช้เวลาไปกับการเขียนงานเกี่ยวกับลัทธิอนาธิปัตย์ ลัทธิทร็อสต์กี้ และลัทธิสหการอนาธิปัตย์ (anarcho-syndicalism) ก่อนที่เขาจะก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิเวศวิทยา ซึ่งเขาผลักดันแนวคิดนี้จนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตเมื่อปี 2006 งานของเขามีอิทธิพลต่อการปฏิวัติโรจาวา ในเคอร์ดิสถานเป็นอย่างมาก
บุคชินอธิบายว่า วิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยามีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ทางสังคม การที่จะปกป้องไม่ให้สิ่งแวดล้อมพังทลายลงไปนั้น เราจำเป็นต้องก่อร่างโครงสร้างสังคมที่เท่าเทียม มีเหตุผล และมีเสรีภาพ โดยชุมชนประชาธิปไตยทางตรงแบบไร้ศูนย์กลาง ดังนั้นบุคชินเรียกร้องให้ทำลายระบอบแนวคิดที่มีลำดับชั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม การเหยียดผิว การเหยียดเพศ และอื่นๆ เขายังเรียกร้องโครงการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ ให้พ้นจากลำดับชั้นทั้งหลาย และมุ่งเป้าไปที่การทวงคืนความยุติธรรม งานของบุคชินได้นำเสนอปัญหาและพยายามหาทางแก้ ไม่ต่างจากมาร์กซ์เลย
ระบุปัญหา
เรื่องเล่าหลักของสังคมส่วนใหญ่กล่าวไว้ว่า “การแข่งขันคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ และการแข่งขันนั้นเอง ที่นำพานวัตกรรมและความสำเร็จมาให้” เรื่องเล่านี้ทึกทักเอาเองว่า มนุษย์ทุกคนคือปัจเจกที่เห็นแก่ตัว และทุนนิยมนี่แหละคือระบบที่สมบูรณ์แบบในการปูทางให้มนุษยชาติไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม บุคชินแย้งว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นไม่จริงเลย เขากล่าวว่า การจะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราต้องพิเคราะห์การก่อร่างและพัฒนาการของสังคมผ่านธรรมชาตินิยมวิภาษวิธี (dialetical naturalism) นี่คือหนทางการทำความเข้าใจกระบวนการที่มนุษยชาติวิวัฒนาการออกจากธรรมชาติ สร้างสองระบบ ด้านหนึ่งคือสังคม ในขณะที่อีกด้านคือโลกธรรมชาติ และพิจารณาการปฏิสัมพันธ์และภาวะพึ่งพากันและกันของสองระบบนั้น ภาวะพึ่งพากันและกัน คือปัจจัยสำคัญในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโลกธรรมชาติ เช่นเดียวกับการทำความเข้าใจการคลี่คลายตัวทางประวัติศาสตร์ และกระบวนการก่อตัวของระบบครอบงำและลำดับชั้น ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์
นิเวศวิทยาสังคมถือว่ามนุษย์มีความพิเศษและแตกต่างจากธรรมชาติทั้งหลาย เนื่องจากเรามีความสามารถเปลี่ยนแปลงโลกในระดับใหญ่ และก่อร่างชุมชนให้เป็นไปตามใจนึกของเราได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นได้จากการพิจารณาดูความแตกต่างระหว่างชุมชนมนุษย์และมด ในขณะที่มดก่อร่างสังคมขึ้นมาจากสัญชาติญาณและธรรมชาติ โดยมีตัวเลือกจำกัดอยู่เพียงรูปแบบเดียว มนุษย์นั้นสร้างสถาบันขึ้นมา นั่นหมายความว่ามนุษย์ตั้งใจก่อร่างสร้างองค์กรโดยมีทางเลือกที่หลากหลาย หากเป็นไปตามตรรกะที่กล่าวไปนั้น เราก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า ความสัมพันธ์แบบผู้ล่าและผู้ถูกล่าในอาณาจักรสัตว์นั้น ไม่ใช่เรื่องของลำดับชั้นใดๆ แต่เป็นเรื่องของสัญชาติญาณหรือธรรมชาติ เพราะว่าในสรรพสัตว์นั้นไม่มีโครงสร้างใด ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจเลย
เราต้องเน้นย้ำว่า การแบ่งแยกเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรามักใช้ภาพที่เราเห็นจากโลกธรรมชาติ มาตัดสินว่าความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นของมนุษย์เป็นธรรมชาติ และนำมาซึ่งความอยุติธรรมของการแข่งขันจอมปลอม ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจโดยมนุษย์ เพื่อสถาปนาสังคมแบบลำดับชั้นขึ้นมา เหล่าชนชั้นปกครอง ได้ใช้มุมมองเหล่านี้เป็นเครื่องมือ เพื่อตบตาและรักษาอำนาจมาโดยตลอด
ทว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว เรามีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก หากเรามองย้อนกลับไป ทุกท่านคงเห็นด้วยว่า ธรรมชาติของสังคมมนุษย์นั้น ต้องการความร่วมมือร่วมใจ ช่วยเหลือแบ่งปัน มากกว่าการสะสมทรัพยากรและความร่ำรวยไว้เพียงผู้เดียว
บุคชินกล่าวว่า การตีความธรรมชาติของเรา ถูกบิดเบื้อนอย่างสิ้นเชิง อันเป็นผลมาจากมุมมองต่อสังคมของเรานั่นเอง “ไม่ว่าเมื่อใดที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่จากประสบการณ์ของเราต่อโลกธรรมชาติ แต่เป็นประสบการณ์จากความสัมพันธ์ระหว่างเราด้วยกันเอง และเมื่อเราอยู่ในโลกของการครอบงำ เราจึงตีความธรรมชาติว่าเป็นเช่นนั้น” ประเด็นนี้ยิ่งชัดมากขึ้น เมื่อเรามองการตีความโลกธรรมชาติ ของมนุษย์จากต่างวัฒนธรรม อาทิ ชาวกรีกโบราณมองว่าธรรมชาติคือการต่อสู้ของกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งสะท้อนออกมาจากสภาพสังคมของพวกเขา ในขณะที่สังคมศักดินายุโรป มองธรรมชาติว่าเป็นสังคมลำดับชั้นอันแข็งทื่อ โดยมียอดเป็นผู้ล่าในป่าเปรียบเสมือนราชา ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า สิ่งนี้สะท้อนภาพสังคมในยุคสมัยนั้นเช่นกัน จากที่กล่าวมา เราจึงไม่แปลกใจหากพบว่า ทุกวันนี้เรามองเห็นธรรมชาติว่าเป็นการแข่งขัน ระหว่างสิ่งมีชิวิตหลายล้านสายพันธุ์ นั่นก็ย่อมเกิดจากภาพสะท้อนของมุมมองเราต่อสังคมทุนนิยมเอง ในความเป็นจริงแล้ว นักนิเวศน์วิทยาจะบอกเราว่า ธรรมชาติคือเครือข่ายที่ละเอียดอ่อน ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชิวิตหลากหลายสายพันธ์ุ ซึ่งพึ่งพากันและกันเพื่อการอยู่รอด แม้แต่ในความสัมพันธ์แบบผู้ล่าก็ตามที
ในท้ายสุดแล้ว กรอบคิดที่บุคชินเสนอขึ้นมาก็คือว่า ด้วยมุมมองที่สะท้อนออกมาจากสังคมลำดับชั้นที่มีการครอบงำเป็นใหญ่นั้น ทำให้เรามองธรรมชาติเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจากสิ่งที่เราต้องไปครอบงำ บุคชินเสนอว่า หากไม่มีการสถาปนาสังคมลำดับชั้นขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แล้วไซร้ เราคงไม่มีความคิดที่จะครอบงำธรรมชาติแต่อย่างใด จะไม่มีเหตุผลที่ต้องล้อมรั้วที่ดิน สร้างกรรมสิทธิ์เอกชนและสะสมทรัพยากร เพื่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วอีกต่อไป ทุกวันนี้เราจึงกำลังเดินทางเข้าสู่ความฉิบหายวายป่วง อันเกิดจากระบอบการครอบงำของเรานั่นเอง
วิธีการแก้ปัญหา
บุคชินอธิบายเรื่อง ธรรมชาติเสรี ใจความสำคัญก็คือ ความกลมกลืนสอดคล้องระหว่างโลกของมนุษย์และธรรมชาติ หมายความว่ามนุษย์ใช้สติปัญญาและเทคโนโลยีของเรา ไปเพื่อสิ่งที่ดีแทนที่จะเป็นไปในทางเลวร้าย เช่นว่า แทนที่จะทำการเกษตรเชิงเดี่ยว อันก่อนให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เราสามารถใช้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์การเกษตรของเรา เพื่อนำความหลากหลายกลับมาสู่เกษตรกรรม และคืนสภาพผืนดิน หรือแทนที่จะป้อนอาหารกว่า 40% ของผลผลิตการเกษตรของเราให้กับปศุสัตว์ ซึ่งมีแต่คนรวยเท่านั้นที่จะบริโภคมันได้ เราสามารถเลี้ยงคนกว่า 800 ล้านคนได้โดยตรง โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์แม้แต่ตัวเดียว
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่มนุษย์หรือธรรมชาติของมนุษย์แต่อย่างใด ประเด็นที่สังคมนิเวศวิทยาบอกเราก็คือ ปัญหานั้นอยู่ที่องค์กรในสังคมปัจจุบันของเรา ที่เชิดชูการครอบงำ ยึดครองทรัพยากร ทุน การเติบโตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้น มากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ระบอบทุนนิยมบั้นปลายนี้นี่เอง ที่บิดผันมุมมองของเราต่อธรรมชาติ ให้เป็นเพียงสินค้าชิ้นหนึ่ง มันใช้เทคโนโลยี เพื่อทำลายธรรมชาติ พร้อมกับตั้งเป้าทำให้ผู้ใช้แรงงานไร้ค่าและล้นเกิน ผ่านระบบอัตโนมัติ จนไปถึงจุดที่พวกเขาสามารถเขี่ยทิ้งได้อย่างง่ายดาย เพราะในระบบปัจจุบันของเรา มนุษย์นั้นคู่ควรจะมีชีวิตก็ต่อเมื่อพวกเขามีประโยชน์ต่อการใช้งานเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ด้วยอำนาจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันมหาศาลของเรา มนุษย์อย่างเราสามารถสถาปนาโครงสร้างแห่งการปลดปล่อยอย่างสมบูรณ์ ให้แก่ทั้งโลกของเราและธรรมชาติได้ เราสามารถพัฒนาไปสู่สังคมหลังทุนนิยม โดยการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อปลดปล่อยผู้คนจากภาระงาน ด้วยการลดชั่วโมงการทำงานลง ให้เสรีภาพการแสวงหาสิ่งที่ต้องการแก่เรา ให้เราได้ใช้เวลาไปกับคนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งมีเวลาในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองมากขึ้น แทนที่จะไปใช้ความก้าวหน้าของจักรกล เพื่อค้นหารีดเค้นกำไรให้แก่เจ้าของเครื่องจักรนั้น เราสามารถนำมันมาใช้เพื่อปลดปล่อยเราจากการทำงาน และมีชีวิตอย่างสอดคล้องกลมกลืนไปกับธรรมชาติ สร้างสังคมหลังความขาดแคลน ที่สอดประสานไปกับโลกธรรมชาติได้ บุคชินกล่าวว่า เรามีศักยภาพที่จะสร้างโลกยูโทเปียเช่นนั้นให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว จนนำมาสู่คำขวัญของนิเวศวิทยาสังคมที่ว่า “เราต้องเรียกร้องยูโทเปีย”
ผู้สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสังคมนิเวศวิทยา และโอกาศการศึกษาต่อในแขนงนี้ สามารถศึกษาได้จากสถาบันเพื่อสังคมนิเวศน์วิทยา: http://social-ecology.org/wp/