Anonymous
อนาธิปไตย 101
“อนาธิปไตย” คำนี้มักไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่สำหรับผู้ที่เคยเห็นคำนี้มาแล้ว ก็มักเชื่อกันว่า อนาธิปไตย = ความโกลาหล แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก
อนาธิปไตย หรือ Anarchism เป็นแนวคิดเพื่อสร้างสังคมแบบไร้รัฐ ไร้ลำดับชั้นการปกครอง ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมาย นั่นหมายถึง ทุกคนในสังคมจะมีอำนาจและมีความเท่าเทียม เพราะปราศจากการบังคับ กดขี่ และการขูดรีด ระบบอำนาจและทรัพยากรในสังคมจะถูกกระจายอย่างทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกตัวและถูกผูกขาดจากคนกลุ่มเดียว
กล่าวอีกแบบคือ สังคมอนาธิปไตย (Anarchy) คือสังคมที่ประชาชนบริหารจัดการกันเอง โดยไม่มีรัฐบาล และชนชั้นปกครอง โดยอาจอยู่ร่วมกันแบบคอมมูน (Commune) ที่มีประชาธิปไตยทางตรงภายใน
นักอนาธิปไตย (Anarchism) มักปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล เป้าหมายร่วมของนักอนาธิปไตย คือการล้มล้างรูปแบบรัฐ เพื่อสร้างสังคมไร้รัฐ เพราะอำนาจรัฐนั้นเป็นอำนาจแห่งการครอบงำ และเป็นรูปแบบการกดขี่รูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการยึดอำนาจ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลสามารถกลายเป็นทรราชได้ตลอดเวลา เพียงเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และนักอนาธิปไตยเชื่อว่า มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบและเสมอภาค โดยไม่จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐมาบังคับได้
นักอนาธิปไตยส่วนใหญ่มักเป็นนักอนาธิปไตยสายสังคม (social anarchist) เช่น นักอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ (anarcho communist), นักอนาธิปไตยสหกรณ์นิยม(anarcho-syndicalist) และยังมีอีกหลายสายมากมาย เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือล้มล้างรูปแบบการกดขี่ทางสังคมทั้งหมด ไม่เพียงแค่รัฐ แต่รวมถึงระบบทุนนิยม นายจ้าง และระบบปิตาธิปไตยด้วย
อนาธิปไตย และมาร์กซิสม์
นักอนาธิปไตยและชาวมาร์กซิสต์มีจุดร่วมกันคือ การล้มล้างชนชั้น การกดขี่ทุกรูปแบบ และระบบทุนนิยม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีส่วนที่แตกต่างกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดตั้ง และมุมมอง
ในด้านการจัดตั้ง มีหลายความเชื่อที่ว่า อนาธิปไตยเน้นการเคลื่อนไหวแบบกระจัดกระจาย ไม่มีการจัดตั้งองค์กร แต่ความจริงแล้ว อนาธิปไตยก็สามารถจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติได้เช่นกัน แต่องค์กรแบบอนาธิปไตย ไม่ใช่องค์กรรูปแบบเดียวกันกับชาวมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ (Marxist-leninist) ที่เน้นการจัดตั้งในรูปแบบ “พรรค”
ในด้านมุมมองต่อรัฐนั้น อนาธิปไตยมองว่า อำนาจรัฐเป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัด เราสามารถจัดการรูปแบบทางสังคมโดยไม่ต้องมีรัฐบาลได้ แต่สำหรับชาวมาร์กซิสต์แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องช่วงชิงอำนาจรัฐ นั่นคือการสร้างรัฐกรรมาชีพขึ้นมา และจะรอจนอิทธิพลของทุนนิยมสลายไป หรือเมื่อสังคมพร้อม รัฐกรรมาชีพจะสลายไปและเข้าสู่สังคมไร้รัฐ
ชาวมาร์กซิสต์มักวิจารณ์ฝ่ายอนาธิปไตยอยู่เสมอ ๆ ว่าเป็นพวกเพ้อฝัน ไม่ยึดติดกับสภาพความเป็นจริง หรือเป็นพวกจิตนิยม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีฝ่ายอนาธิปไตยบางส่วนที่ยึดมั่นในหลักวัตถุนิยมแบบมาร์กซิสต์ อีกทั้งยังมีการนำหลักแนวคิดบางอย่างจากมาร์กซิสม์มาปรับใช้อีกด้วย
มีหลายคนเชื่อว่า สังคมแบบอนาธิปไตยและสังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ คือสังคมแบบเดียวกัน คือสังคมไร้รัฐ ไร้ชนชั้น ไร้เงินตรา นั่นเอง
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนาธิปไตย
1) อนาธิปไตยจะเต็มไปด้วยความโกลาหล ?
สังคมอนาธิปไตยนั้น ไม่ใช่สังคมที่ไร้กฎเกณฑ์ เราไม่มีรัฐบาลก็จริง ดังนั้นเราจะไม่มีกฎหมายที่ควบคุมจากรัฐ แต่เรายังคงมีกฎทางสังคม ที่คนในสังคมทั้งหมดร่วมกันร่างและออกแบบเพื่อรักษาความสงบในสังคม สังคมจะสงบสุขได้ ไม่ใช่เพราะกฎหมายและการบังคับ แต่เพราะคนในสังคมเคารพและพึ่งพากัน และไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่คนในสังคมจะแหกกฎที่พวกเขาตั้งขึ้นเอง
หัวใจหลักของอนาธิปไตยคือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy และ sympathy) สังคมอนาธิปไตยนั้นเน้นการอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือและแบ่งปัน เราแบ่งปันเพราะเห็นใจผู้อื่น เราเคารพผู้อื่น เพราะเขาสมควรได้รับการเคารพ
“หากคุณหิว เราจะแบ่งอาหารให้”
“หากคุณขาดเสื้อผ้า เราจะมอบให้”
“หากคุณต้องการให้ช่วย เราจะช่วย”
“เราช่วย ไม่ใช่เพราะหวังผล”
“เราช่วย ไม่ใช่เพราะกลัวการลงโทษ”
“เราช่วย เพราะทุกคนสมควรได้รับมัน”
เรื่องพวกนี้มันอาจฟังดูเป็นอุดมคติ แต่หากมองในสังคมปัจจุบันแล้ว การกระทำเหล่านี้ก็เกิดขึ้นทุกวันในสังคมเช่นกัน มันเป็นเรื่องปกติในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน ช่วยเหลือ หรือแม้แต่การเคารพผู้อื่น
2) นักอนาธิปไตยเป็นพวกหัวรุนแรง ?
นักอนาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีแนวทางแบบเดียวกันเสมอไป บางคนก็เน้นสันติวิธี บางคนก็เน้นแนวทางแบบ radical เช่นเดียวกันกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม หรือสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ ก็ต่างสามารถใช้วิธีแบบรุนแรงได้เช่นกัน เพราะผู้มีอำนาจมักไม่ยอมลงจากหอคอยงาช้างแบบง่าย ๆ และสันติวิธี ไม่ใช่ทางออกเสมอไป
3) สังคมไร้รัฐ เป็นไปได้หรือไม่ ?
ในอดีต ช่วงของสงครามกลางเมืองสเปน สังคมแบบอนาธิปไตยได้บังเกิดขึ้น เนื่องจากการรวมตัวขององค์กร CNT-FAI และการร่วมมือของชนชั้นแรงงานในการเข้าควบคุมและยึดโรงงาน พร้อมเปลี่ยนรูปแบบทางสังคมเป็นแบบอนาธิปไตยแบบสหกรณ์นิยม หรือสหการณ์อนาธิปไตย
และในปัจจุบันเอง ยังคงมีสังคมโรจาวาในซีเรีย (Rojava) ซึ่งเป็นสังคมกึ่งไร้รัฐ ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจออกคำสั่ง รูปแบบอำนาจกลายเป็นล่างขึ้นบน ที่มีประชาธิปไตยทางตรง มีการกระจายทรัพยากร ไม่มีการผูกขาดความรู้โดยรัฐและผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการด้านต่าง ๆ โดนปลดได้ตลอดเวลา และคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยการเคารพซึ่งกันและกัน และการแบ่งปัน เราสามารถเรียกโรจาวาได้ว่าเป็น ประชาธิปไตยไร้รัฐ หรืออนาธิปไตย
สังคมเหล่านี้จะเกิดขึ้นล้วนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม สังคมใหม่นั้นไม่อาจก่อตัวได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องเกิดจากการต่อสู้ปลดแอกของชนชั้นผู้ถูกกดขี่
Viva la anarchist!
Viva la commune!