Title: คุณเป็นนักอนาธิปไตยหรือเปล่า คำตอบอาจทำให้คุณตกใจ!
Author: David Graeber
Topic: introductory
Language: Thai
Date: 2006
Notes: Anonymously translated and submitted.

        ถ้ามีคนกำลังเข้าแถวเพื่อขึ้นรถบัส คุณจะรอให้ถึงคิวของคุณและไม่ผลักคนอื่นให้หลีกไปถึงแม้ว่าจะไม่มีตำรวจอยู่แถวนั้นหรือเปล่า?

        คุณเป็นสมาชิกของชมรมหรือทีมกีฬาหรือองค์กรอาสาสมัครอะไรอื่น ๆ ที่การตัดสินใจไม่ได้มาจากผู้นำคนเดียวแต่มาจากความยินยอมของส่วนรวมหรือเปล่า?

        คุณเชื่อหรือไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่เป็นพวกเห็นแก่ตัวที่ไม่ได้สนใจผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง? คุณเชื่อหรือไม่ว่าเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่โง่เขลาและไม่ยุติธรรม?

        คุณเชื่อเรื่องที่คุณสอนลูก (หรือที่พ่อแม่คุณสอนคุณ) จริง ๆ หรือเปล่า?

        คุณเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์ฉ้อฉลและชั่วร้ายโดยเนื้อแท้ หรือว่าคนบางกลุ่ม (ผู้หญิง คนผิวสี คนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีการศึกษาสูง) เป็นพวกด้อยกว่า และสมควรถูกผู้ที่ดีกว่าปกครอง?

มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะเคยได้ยินมาบ้างว่าพวกนักอนาธิปไตยเป็นใครและพวกเขาเชื่ออะไร มีความเป็นไปได้สูงที่แทบทุกอย่างที่คุณเคยได้ยินนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ คนจำนวนมากเชื่อว่านักอนาธิปไตยคือผู้สนับสนุนความรุนแรง ความยุ่งเหยิง และการทำลายล้าง ว่าพวกเขาต่อต้านระเบียบและการจัดการทุก ๆ รูปแบบ หรือไม่ก็เป็นพวกสุญนิยม (nihilists) ที่ต้องการแค่ระเบิดทุก ๆ อย่างทิ้ง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลยสักนิด นักอนาธิปไตยเป็นเพียงแค่ผู้คนที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถวางตนได้อย่างมีเหตุมีผลโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับเท่านั้นเอง มันเป็นแนวคิดที่เรียบง่ายมาก แต่ก็เป็นแนวคิดที่คนรวยและผู้มีอำนาจมองว่าสุดแสนจะอันตรายมาตลอด

ถ้าจะเอาอย่างง่าย ๆ ที่สุดแล้ว ความเชื่อของนักอนาธิปไตยมาจากข้อสมมติพื้นฐานแค่สองข้อ ข้อแรกคือในสถานการณ์ปกติ มนุษย์ทำตัวมีเหตุผลและเคารพซึ่งกันและกันได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และพวกเขาสามารถจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาสั่งว่าต้องทำอย่างไร ข้อสองคืออำนาจนำไปสู่ความฉ้อฉล ในที่สุดแล้ว อนาธิปไตยเป็นแค่ความกล้าที่จะเอาหลักการง่าย ๆ ของความเคารพพื้นฐานที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน แล้วพามันไปสู่ข้อสรุป นี่อาจฟังดูประหลาด แต่ในหลาย ๆ วิธีคุณน่าจะเป็นนักอนาธิปไตยอยู่แล้ว—ก็แค่คุณยังไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

เรามาเริ่มกันด้วยตัวอย่างจากชีวิตประจำวัน

ถ้ามีคนกำลังเข้าแถวเพื่อขึ้นรถบัส คุณจะรอให้ถึงคิวของคุณและไม่ผลักคนอื่นให้หลีกไปถึงแม้ว่าจะไม่มีตำรวจอยู่แถวนั้นหรือเปล่า?

ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” คุณกำลังทำตัวเหมือนนักอนาธิปไตยแล้ว! หลักการพื้นฐานที่สุดของนักอนาธิปไตยคือการจัดการตนเอง: ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีอะไรเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่มีเหตุผลซึ่งกันและกัน หรือที่จะให้เกียรติและความเคารพกับคนอื่น ๆ

ทุก ๆ คนเชื่อกันทั้งนั้นว่าตัวเองสามารถทำตัวมีเหตุผลได้ การที่คนคนหนึ่งจะคิดว่ากฎหมายและตำรวจเป็นสิ่งจำเป็น เป็นเพราะเขาเชื่อว่าคนอื่นทำตัวแบบเดียวกันไม่ได้ แต่ถ้าคุณคิดดี ๆ แล้ว คนอื่น ๆ เหล่านี้ไม่ได้รู้สึกอย่างเดียวกับคุณหรือ? นักอนาธิปไตยเสนอว่า พฤติกรรมต่อต้านสังคมแทบทั้งหมดที่ทำให้เราคิดว่าจำเป็นต้องมีทหาร ตำรวจ คุก และรัฐบาลมาควบคุมชีวิต ล้วนมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและความอยุติธรรมที่เกิดจากทหาร ตำรวจ คุก และรัฐบาลเหล่านั้นเองทั้งสิ้น มันเป็นวงจรอุบาทว์อันหนึ่ง ถ้าผู้คนเคยชินกับการถูกทำเสมือนว่าความคิดเห็นของพวกเขาไม่มีค่า พวกเขาก็ย่อมที่จะรู้สึกโกรธและหมดหวัง หรือแม้แต่รุนแรง—ซึ่งแน่นอนว่าก็มันจะกลายเป็นข้ออ้างให้ผู้มีอำนาจมาบอกว่าความคิดเห็นของพวกเขาไม่มีค่าอีก เมื่อใดก็ตามที่พวกเขารู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามีค่าไม่ต่างจากคนอื่น ๆ เขามักจะแสดงความเข้าอกเข้าใจอย่างน่าทึ่งทีเดียว พูดอย่างสั้น ๆ ก็คือ: นักอนาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจนั่นแหละ และผลกระทบของอำนาจ ที่ทำให้ผู้คนโง่เขลาและไร้ความรับผิดชอบ

คุณเป็นสมาชิกของชมรมหรือทีมกีฬาหรือองค์กรอาสาสมัครอะไรอื่น ๆ ที่การตัดสินใจไม่ได้มาจากผู้นำคนเดียวแต่มาจากความยินยอมของส่วนรวมหรือเปล่า?

ถ้าคุณตอบ “ใช่” แปลว่าคุณกำลังอยู่ในองค์กรที่ดำเนินการโดยใช้หลักการแบบอนาธิปไตย! หลักการพื้นฐานอีกอย่างของอนาธิปไตยคือการรวมตัวกันอย่างสมัครใจ นี่เป็นแค่การนำหลักการประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ความแตกต่างคือนักอนาธิปไตยเชื่อว่ามันควรเป็นไปได้ที่เราจะมีสังคมที่ทุก ๆ อย่างจัดการโดยหลักการเช่นนี้ ทุก ๆ กลุ่มดำเนินการจากความยินยอมของสมาชิก ซึ่งแปลว่าการจัดการแบบแนวตั้งอย่างในกองทัพ ระบบราชการ หรือบริษัทใหญ่ ที่มีสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นลงมา จะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น คุณอาจไม่เชื่อว่ามันเป็นไปได้ หรือคุณอาจเชื่อ แต่ทุก ๆ ครั้งที่คุณสร้างข้อตกลงโดยใช้ฉันทามติแทนที่จะใช้การขู่เข็ญ ทุก ๆ ครั้งที่คุณตกลงอย่างยินยอมกับคนอีกคน สร้างความเข้าใจร่วมกัน หรือสร้างข้อประนีประนอมโดยการเคารพเอาสถานะหรือความต้องการของอีกคนมาใช้ตัดสินใจ คุณก็กำลังทำตัวแบบนักอนาธิปไตยแล้ว—ต่อให้คุณจะไม่รู้ตัวก็ตาม

อนาธิปไตยเป็นเพียงสิ่งที่ทุก ๆ คนทำเมื่อมีเสรีภาพที่จะเลือก และเมื่อกำลังตกลงเจรจากับคนอื่น ๆ ที่มีเสรีภาพเท่า ๆ กัน—ซึ่งแปลว่ารู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อกันและกันที่ตามมา นำไปสู่ประเด็นสำคัญอีกข้อว่า: ถึงแม้ผู้คนจะสามารถทำตัวอย่างมีเหตุผลและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเวลาที่พวกเขาอยู่กับคนอื่นที่สถานะเท่าเทียมกัน แต่โดยธรรมชาติมนุษย์เราไม่สามารถเชื่อถือให้พวกเขาทำเช่นเดียวกันเวลามีอำนาจเหนือคนอื่นได้ หากเราเอาอำนาจให้ใครก็ตามแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะไม่ใช้มันอย่างผิด ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คุณเชื่อหรือไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่เป็นพวกเห็นแก่ตัวที่ไม่ได้สนใจผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง? คุณเชื่อหรือไม่ว่าเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่โง่เขลาและไม่ยุติธรรม?

ถ้าคุณตอบ “ใช่” คุณกำลังเชื่อในข้อวิจารณ์ของนักอนาธิปไตยต่อสังคมปัจจุบัน—อย่างน้อยก็ในเค้าโครงกว้าง ๆ นักอนาธิปไตยเชื่อว่าอำนาจนำไปสู่ความฉ้อฉล และใครก็ตามที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อแสวงหาอำนาจย่อมเป็นคนที่สมควรได้มันน้อยที่สุด นักอนาธิปไตยเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจของเราในปัจจุบันเป็นระบบที่ให้รางวัลแก่คนที่เห็นแก่ตัวและทุจริตมากกว่าคนที่เคารพและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนจำนวนมากเชื่อเช่นนั้น แตกต่างกันแค่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ได้ หรือไม่เช่นนั้น—และสุนัขรับใช้ของผู้มีอำนาจเป็นผู้ที่ยืนกรานอย่างนี้มากที่สุด—อะไรก็ตามที่เราทำได้ก็จะทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม

แต่จะเป็นอย่างไรถ้านั่นไม่จริง?

และเรามีสาเหตุอะไรให้เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น? ในทุกที่ที่เราสามารถทดลองได้ เราพบว่าคำพยากรณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีรัฐหรือทุนนิยมล้วนถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริงทั้งสิ้น ในปัจจุบันนี้ก็มีหลาย ๆ ที่ทั่วโลกที่ผู้คนกำลังใช้ชีวิตอยู่นอกการควบคุมของรัฐบาล พวกเขาไม่ได้ฆ่าฟันกันหมด โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็แค่ใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือนคนอื่น ๆ แน่นอนว่าในสังคมเมืองที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมันอาจจะยากกว่า: แต่เทคโนโลยีก็สามารถทำให้ปัญหาพวกนี้แก้ได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้นแล้ว เรายังไม่ได้เริ่มคิดด้วยซ้ำว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถระดมเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้จริง ๆ เราจะต้องทำงานกี่ชั่วโมงกันแน่ เพื่อรักษาสังคมให้ดำรงอยู่—ถ้าเราล้มเลิกอาชีพที่ไร้ประโยชน์หรือเป็นโทษทิ้งไป ไม่ว่าจะคนขายของบนโทรทัศน์ นักกฎหมาย การ์ดคุมนักโทษ นักวิเคราะห์การเงิน นักประชาสัมพันธ์ ข้าราชการหรือนักการเมือง และย้ายเอานักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญออกจากการวิจัยอาวุธอวกาศหรือระบบตลาดหุ้น มาวิจัยเครื่องจักรให้ทำงานที่อันตรายหรือน่ารำคาญอย่างการขุดเหมืองหรือล้างห้องน้ำ และแจกจ่ายงานที่เหลือให้ทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียม? ห้าชั่วโมงต่อวัน? สี่? สาม? สอง? ไม่มีใครรู้เพราะไม่มีใครถามคำถามแบบนี้ด้วยซ้ำ นักอนาธิปไตยคิดว่าคำถามแบบนี้แหละที่เราควรถาม

คุณเชื่อเรื่องที่คุณสอนลูก (หรือที่พ่อแม่คุณสอนคุณ) จริง ๆ หรือเปล่า?

“มันไม่สำคัญว่าใครเป็นคนเริ่ม” “ความผิดสองครั้งไม่ได้ทำให้ถูก” “จงแก้ปัญหาที่เธอเป็นคนก่อ” “ทำกับคนอื่น ๆ อย่างที่อยากให้เขาทำกับตัวเอง” “อย่าใจร้ายกับคนอื่นเพียงเพราะเขาแตกต่าง” เราควรตัดสินใจว่า เรากำลังโกหกเวลาสอนลูกเกี่ยวกับความถูกและผิด หรือว่าเราพร้อมที่จะยอมรับคำสั่งของเราเองอย่างจริงจัง เพราะถ้าคุณพาแนวคิดทางจริยธรรมเหล่านี้ไปสู่ข้อสรุปตามหลักเหตุผลแล้ว คุณก็จะพบกับอนาธิปไตย

ถ้าเราเริ่มจากหลักการว่าความผิดสองครั้งไม่ได้ทำให้ถูก และถือมันอย่างจริงจัง แค่นี้ก็จะทำลายพื้นฐานทั้งหมดของสงครามและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปแล้ว ทำนองเดียวกันกับการแบ่งปัน: เราสอนเด็ก ๆ ตลอดเวลาว่าให้แบ่งปัน ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วเราก็เดินเข้าสู่โลกความจริง ที่ซึ่งเราสมมติว่าทุก ๆ คนเห็นแก่ตัวและดีแต่แก่งแย่งแข่งขันกัน แต่นักอนาธิปไตยจะชี้ว่า สิ่งที่เราสอนเด็ก ๆ นั้นถูกต้องแล้ว ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแทบทุกอัน ทุก ๆ การค้นพบหรือผลงานใด ๆ ล้วนเกิดขึ้นมาจากการร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้แต่ในปัจจุบันเอง พวกเราส่วนมากก็ใช้เงินกับเพื่อนฝูงและครอบครัวมากกว่ากับตัวเอง ถึงแม้จะค่อนข้างเป็นไปได้ว่าโลกนี้จะมีคนที่ชอบแข่งขันอยู่เสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจัดระบบสังคมให้ส่งเสริมพฤติกรรมแบบนั้น หรือให้คนแข่งขันกันเพื่อแย่งปัจจัยพื้นฐานของชีวิต การทำอย่างนี้มีประโยชน์กับผู้มีอำนาจเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องการให้เราใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวซึ่งกันและกัน นี่เป็นสาเหตุที่นักอนาธิปไตยเรียกร้องสังคมที่ไม่ได้มาจากแค่การรวมตัวอย่างเสรีเท่านั้นแต่ยังมาจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย ความจริงก็คือ เด็ก ๆ ส่วนใหญ่โตขึ้นมาโดยเชื่อในหลักจริยธรรมแบบอนาธิปไตย แต่แล้วพวกเขาก็ค่อย ๆ รู้ตัวว่าโลกของผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นี่แหละคือสาเหตุที่หลายคนเกิดรู้สึกต่อต้าน แปลกแยก หรือแม้แต่อยากฆ่าตัวตายในช่วงวัยรุ่น และในที่สุด เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ยอมแพ้และขื่นขม สิ่งปลอบใจอย่างเดียวที่พวกเขามักจะเหลืออยู่ก็คือการเลี้ยงดูลูกของตัวเองและเสแสร้งให้พวกเด็ก ๆ ฟังว่าโลกนี้ยุติธรรม แต่มันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถสร้างโลกที่ตั้งอยู่บนหลักการของความยุติธรรมจริง ๆ? มันจะไม่เป็นของขวัญที่สุดยอดที่สุดที่เราจะสามารถให้แก่ลูกหลานของเราหรือ?

คุณเชื่อหรือไม่ว่ามนุษย์ฉ้อฉลและชั่วร้ายโดยเนื้อแท้ หรือว่าคนบางกลุ่ม (ผู้หญิง คนผิวสี คนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีการศึกษาสูง) เป็นพวกด้อยกว่า และสมควรถูกผู้ที่ดีกว่าปกครอง?

ถ้าคุณตอบ “ใช่” ตรงนี้ ดูเหมือนว่าในที่สุดแล้วคุณก็ไม่ใช่นักอนาธิปไตยจริง ๆ นั่นแหละ แต่ถ้าคุณตอบ “ไม่” ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คุณเชื่อในหลักการอนาธิปไตยไปถึง 90 % แล้ว และเป็นไปได้สูงอีกที่คุณกำลังใช้ชีวิตตามหลักการพวกนี้ ทุก ๆ ครั้งที่คุณแสดงความเห็นใจและเคารพต่อมนุษย์อีกคน คุณกำลังเป็นนักอนาธิปไตย ทุก ๆ ครั้งที่คุณปรับความเข้าใจกับคนอื่นและหาข้อประนีประนอมร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นของทุกคนแทนที่จะให้คนคนเดียวตัดสินใจแทนคนอื่น ๆ คุณกำลังเป็นนักอนาธิปไตย ทุก ๆ ครั้งที่คุณมีโอกาสบังคับให้ใครบางคนทำอะไรบางอย่าง และคุณเลือกที่จะอาศัยความรู้สึกมีเหตุผลหรือยุติธรรมของเขาแทน คุณกำลังเป็นนักอนาธิปไตย ทำนองเดียวกันกับทุก ๆ ครั้งที่คุณแบ่งปันอะไรบางอย่างกับเพื่อน หรือตัดสินใจร่วมกันว่าใครจะล้างจาน หรือทำอะไรก็ตามโดยคำนึงถึงความยุติธรรม

ณ จุดนี้ คุณอาจค้านว่าทั้งหมดนี้คงเป็นเรื่องดีสำหรับคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่การจัดการเมืองหรือประเทศเป็นคนละเรื่อง และแน่นอนว่าเรื่องนี้มีประเด็น ถึงแม้ว่าเราจะกระจายอำนาจในสังคมและแบ่งมันไปสู่ชุมชนเล็ก ๆ อย่างมากที่สุดที่เราทำได้ ก็ยังมีสิ่งต่าง ๆ จำนวนมากที่จะต้องทำการประสานงานเชื่อมต่อกัน ตั้งแต่การควบคุมทางรถไฟไปจนถึงตัดสินใจเส้นทางการวิจัยทางแพทย์ แต่เพียงแค่เพราะอะไรบางอย่างซับซ้อนไม่ได้แปลว่าเราจะทำมันอย่างประชาธิปไตยไม่ได้ มันก็แค่จะซับซ้อนกว่าเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วนักอนาธิปไตยมีไอเดียและภาพวาดมากมายว่าสังคมที่ซับซ้อนเช่นนั้นจะจัดการตนเองอย่างไร แต่ถ้าจะให้อธิบายก็คงไปไกลเกินขอบเขตของบทความแนะนำเล็ก ๆ อย่างนี้ คงมากพอถ้าจะพูดอย่างแรกว่า คนจำนวนมากได้ใช้เวลานานมาแล้วเพื่อสร้างโมเดลว่าสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและสมบูรณ์จริง ๆ จะทำงานอย่างไร แต่อย่างที่สองซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ก็คือว่าไม่มีนักอนาธิปไตยคนนั้นที่อ้างว่าตัวเองมีแผนการที่สมบูรณ์แบบ เพราะอย่างไรซะ เราก็ไม่ควรพยายามเอาแบบแผนอะไรที่สร้างไว้ล่วงหน้ามาบังคับสังคมอยู่แล้ว ความจริงก็คือ มีความเป็นไปได้สูงที่เราไม่สามารถจินตนาการปัญหาได้ถึงครึ่งหนึ่งของการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่า ความชาญฉลาดของมนุษย์จะสามารถก้าวข้ามปัญหาเช่นนี้ได้เสมอ ตราบใดที่มันอยู่ในหลักการพื้นฐานของเรา—ซึ่งในที่สุดแล้วก็คือหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์